Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี : สร้างงานวิจัยจากแรงบันดาลใจและความชอบพร้อมสร้างพันธมิตรในการทำงานวิจัย

19/01/2558

5588

รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี สร้างผลงานวิจัยจากความสนใจส่วนตัวทางด้านฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมสร้างพันธมิตรเพื่อให้การดำเนินงานวิจัยมีความคล่องตัว โดยขอการสนับสนุนครุภัณฑ์ วัสดุและเครื่องมือวิจัยจากภาคเอกชนผ่านช่องทาง University Program และ Corporate Social Responsibility (CSR)

รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และสอบผ่านเข้ารับทุนการศึกษาของโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มิความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี – เอก โดยจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโทในสาขาวิชาฟิสิกส์ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความรู้ทางด้านฟิสิกส์สามารถนำมาต่อยอดการศึกษาทางด้านเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความสนใจเป็นพิเศษตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ จึงศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในสาขา Computer Science (Computer Graphics and Solid Modeling) ที่ Brunel University ประเทศสหราชอาณาจักร

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ได้กลับมาปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตามสาขาที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากได้ศึกษาทางด้าน Computer Science โดยตรงในระดับปริญญาเอก ดังนั้น เมื่อเป็นอาจารย์ที่สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ได้ระยะหนึ่ง จึงได้ขอย้ายมาเป็นอาจารย์ที่สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร และเริ่มต้นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ควบคู่ไปกับการสอนในวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์ตามความสนใจส่วนตัวและแรงบันดาลใจในวัยเด็ก ที่สำคัญนอกจากบทบาทในฐานะอาจารย์และนักวิจัยแล้ว รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ ยังเคยดำรงตำแหน่งคณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อีกด้วย

ด้วยในวัยเด็กของ รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ ขณะที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา มีความชอบด้านฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ วงจรอิเลคทรอนิคส์ จึงสนใจศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับการออกแบบวงจรอิเลคทรอนิคส์ และผนวกกับความรู้ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ดังนั้น งานวิจัยหลักที่ดำเนินการจึงเป็นการพัฒนาฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์เพื่อใช้เร่งการประมวลผลในการลดขนาดของไฟล์ข้อมูลภาพ นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยในส่วนของการพัฒนาวิธีการอัตโนมัติในการจำแนกรูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุเพื่อประโยชน์ต่อการป้องกันหรือเตือนการหกล้มซึ่งเป็นงานที่ใช้ความรู้จากการติดตามงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมในอนาคต และได้บูรณาการโจทย์วิจัยกับความรู้ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ยังใช้แนวทางการสร้างพันธมิตรในการสร้างงานวิจัยโดยการขอการสนับสนุนครุภัณฑ์ วัสดุ และเครื่องมือวิจัยจากภาคเอกชนโดยตรง ผ่านทางช่องทาง University Program และ CSR (Corporate Social Responsibility) ทำให้ได้มาซึ่งครุภัณฑ์ วัสดุ และเครื่องมือวิจัยที่มีความทันสมัยภายในเวลาอันรวดเร็ว และยังช่วยประหยัดงบประมาณของมหาวิทยาลัยในการจัดซื้อครุภัณฑ์ วัสดุ และเครื่องมือวิจัยที่มีราคาสูง

ด้วยความเชี่ยวชาญในการออกแบบและจัดสร้างระบบควบคุมและเครื่องมือสนับสนุนงานวิจัยโดยใช้ไมโครคอนโทรลลเลอร์/ไมโครโปรเซสเซอร์ การออกแบบและสร้างระบบโดยใช้ชิพกลุ่ม FPGA/CPLD โดยใช้ VHDL การพัฒนากระบวนวิธีทางคอมพิวเตอร์สำหรับการสังเคราะห์ภาพพื้นฐานและภาพโครงสร้างแบบ CSG (Rendering Algorithms) การพัฒนากระบวนวิธีทางคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการควบคุมระบบโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Process Control) การจำลองการทำงานของหุ่นยนต์โดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ Computer Interfacing และ Computer Applications in Physics Experiments ทำให้ รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ มีผลงานวิจัยต่างๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่และนำเสนอในการประชุมทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศกว่า 40 เรื่อง ทั้งยังเป็นกรรมการพิจารณาบทความทางวิชาการให้กับวารสารทั้งในและต่างประเทศ กรรมการ รวมทั้งที่ประชุมวิชาการอีกด้วย

งานวิจัยที่ รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเป็นงานออกแบบและพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ LekOboT ที่มีเป้าหมายในการลดความซับซ้อนและต้นทุนการจัดสร้างสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนของนักเรียนและนักศึกษา โดยแรงบันดาลใจมาจากความใฝ่ฝันที่จะออกแบบและสร้างชิ้นงานพลาสติกในวัยเด็ก แต่ไม่สามารถหาเครื่องมือในการแปลงจากแนวคิดเป็นเครื่องต้นแบบได้ จึงได้พยายามออกแบบและพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากกลุ่มผู้ใช้งานในกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา เครื่องพิมพ์ดังกล่าวนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการส่งมอบเพื่อนำใปใช้ในการเรียน การสอน และการทำงานโครงงานของนักเรียนในโรงเรียน มอ. วิทยานุสรณ์ หาดใหญ่

เมื่อพูดถึงความสำเร็จและความภาคภูมิใจ รองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เล่าว่า เป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจทั้งในแง่ของนักวิจัย นักวิชาการ และผู้สอน โดยได้รับรางวัลทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย จำนวน 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2544 และ 2551 และยังได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลเดียวกันนี้ใน ปี พ.ศ. 2558 (www.ttsf.or.th/winner2.php) อีกด้วย นอกจากนี้ บทความหลายบทความได้รับการจัดอันดับให้เป็นบทความที่ได้รับการดาวน์โหลดสูงสุด 25 อันดับแรกใน ScienceDirect (Top25 of ScienceDirect) โดยบางบทความได้รับการดาวน์โหลดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในหลายช่วงของการสำรวจข้อมูล ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศิษย์เก่าดีเด่นโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ที่สำคัญ งานวิจัยที่ทำได้ยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “ระบบขับเคลื่อนเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ความซับซ้อนต่ำ” ยื่นจดอนุสิทธิบัตร “กล้องจุลทรรศน์เพื่อการเรียนการสอนชนิดพกพา” และสิ่งประดิษฐ์ “LekOboT เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากรางลิ้นชักประกอบง่าย ราคาประหยัด” ได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นในระดับดีจากสภาวิจัยแห่งชาติ(rrm.nrct.go.th) โดยจะรับรางวัลจากนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ศกนี้

 

“การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการในระดับสูงสุดในบทบาทของอาจารย์มหาวิทยาลัย” คือเป้าหมายในอนาคตของรองศาสตราจารย์ ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

 

 

 

สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง