Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมพัฒนาโจทย์วิจัยบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน

30/01/2558

1600

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล และเจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยพัฒนา เข้าร่วมประชุม โครงการ “บริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน กรณีศึกษาคลองป่าพะยอม – คลองท่าแนะ จังหวัดพัทลุง” ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยทักษิณ (วิทยาเขตพัทลุง)

โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนแผนงานการวิจัยมุ่งเป้าเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ : กลุ่มเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน โดยมีวงเงินงบประมาณรวม 1,999,600 บาท เป็นงบสมทบของ วช. และงบประมาณสมทบของมหาวิทยาลัย ฝ่ายละ 999,800 บาท และมีระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558

ด้านประเด็นโจทย์การพัฒนาพื้นที่โครงการนี้ เป็นการหยิบยกประเด็นโจทย์การพัฒนาพื้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมีทุนเดิมในการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาชนและภาคีพัฒนาของจังหวัดในเรื่องการจัดการน้ำ โดยประเด็นที่เห็นสอดคล้องกันเพื่อดำเนินการวิจัยในระยะนี้ คือปัญหาการจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของคลองป่าพะยอม-คลองท่าแนะ ซึ่งมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โครงการวิจัยนี้จึงเสนอการค้นหาข้อเท็จจริงและหาทางออกของปัญหาด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาและสร้างการเรียนรู้ให้กับนักวิจัยและภาคีพัฒนาในพื้นที่ควบคู่กันไปโดยกำหนดโจทย์ที่เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาร่วมกันของชุมชนต้นน้ำกลางน้ำ และปลายน้ำ

ด้านระบบการจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเน้นการใช้โครงสร้างระบบการบริหารงานวิจัยที่ตั้งไว้เดิม(การบริหารจัดการที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ) และจัดตั้งทีมงานจากทุกคณะวิชา/สถาบันในมหาวิทยาลัยมาร่วมกันพัฒนาระบบกลไกการบริหารจัดการงานวิจัยรับใช้สังคมการจำลองโมเดลความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อสังคมที่บูรณาการพันธกิจระหว่างการเรียนการสอนการวิจัย และการบริการวิชาการแก่สังคม มาร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยนี้โดยจะมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเป็นกลไกหลักในการประสานและขับเคลื่อน

เป้าหมายของโครงการคือ 1) ผลการวิจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนโดยวิธีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ ในรอบ 1 ปี 2) ได้พัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยอย่างน้อยร้อยละ 30 และ 3)ได้ระบบการบริหารจัดการงานวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อสังคม ในรอบ 1 ปี

สำหรับการประชุมวิพากษ์โจทย์วิจัยที่จัดขึ้น มี คลัสเตอร์ (Clusters) วิจัยที่มารายงานโจทย์วิจัยทั้งสิ้นจำนวน 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ 1.คลัสเตอร์เกษตรยั่งยืน 2.คลัสเตอร์ความมั่นคงทางอาหาร 3.คลัสเตอร์ กระบวนการเรียนรู้ 4.คลัสเตอร์สิ่งแวดล้อมชุมชน 5.คลัสเตอร์สุขภาพ พร้อมกันนี้ยังมีเครือข่ายในชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการวิจัยต่างๆอย่างพร้อมเพรียงกัน

จุดเด่นของโครงการวิจัยดังกล่าว คือกระบวนการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัย โจทย์และปัญหาส่วนใหญ่มาจากความต้องการของชุมชน ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในการรับผิดชอบและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือแก่นักวิจัยเพื่อประสิทธิภาพของการดำเนินงานวิจัยซึ่งสุดท้ายชุมชนจะเป็นผู้รับประโยชน์จากการศึกษาวิจัยอย่างแท้จริง