Location

0 7567 3000

ข่าวการศึกษา

สำนักวิชาการจัดการขับเคลื่อนโครงการ WBL สู่พันธกิจ Community Engagement ที่เกาะสมุย

อัพเดท : 03/03/2558

2121

ตามที่สาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดโครงการเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐานขึ้นเป็นรุ่นที่ ๒ ในภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๗ ณ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี (Work-based Learning: WBL@Koh Samui) โดยส่งนักศึกษาชั้นปีที่ ๒ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจำนวน ๖๓ คน ไปปฏิบัติงานในแผนกต่างๆ ของโรงแรม รีสอร์ท และบริษัททัวร์ในพื้นที่ตั้งแต่เดือนกลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ มาแล้วนั้น

นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้มีโอกาสเรียนรู้บรรยากาศในที่ทำงาน ลงมือปฏิบัติและฝึกทักษะการปฏิบัติหน้าที่ในสายงานที่ถนัดและทำงานเสมือนพนักงานจริง รวมทั้งได้มีโอกาสในการเรียนรู้การใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นที่เกาะสมุย ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือและการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และชุมชนในพื้นที่ ส่งผลให้สาขาวิชาฯ บูรณาการโครงการเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐาน (WBL) และพันธกิจชุมชนสัมพันธ์ (Community Engagement) ที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ร่วมกัน การเติมเต็มและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับประเด็นปัญหาในพื้นที่ เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นต้น

ดังนั้น ระหว่างที่นักศึกษาปฏิบัติงานที่เกาะสมุย สาขาวิชาฯ ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานในรายวิชา TOI-204 Sustainable Tourism และ ECN-200 Introductions to Economics โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจ เรียนรู้ ซึมซับ ประทับใจ และได้รับประสบการณ์ใกล้ชิดทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ปรัชญาและแนวปฏิบัติด้านเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการวางรากฐานและจัดการพลังงานทางเลือกในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะลวย และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๖ มกราคมที่ผ่านมา

อาจารย์ ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม อาจารย์ ดร. จินตนีย์ รู้ซื่อ และอาจารย์ศักดิ์ชัย ปิ่นเพ็ชร ซึ่งวางแผนการดำเนินงานและได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกับคณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษา ได้สรุปผลการเรียนรู้ได้ดังนี้

• นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการและได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม ณ Samui Green Park Botanical Garden ภายใต้ความอนุเคราะห์ข้อมูลและความร่วมมือจากคุณคณิต สมวงศ์ เจ้าของกิจการ ในหัวข้อ “ฐานการเรียนรู้และวงจรห่วงโซ่ชีวิต ของ พืช ผัก เนื้อสัตว์ (หมูหลุม)” โดยนักศึกษาได้ร่วมกัน ๑) ปลูกกล้วย พืชผักสวนครัว ป่าชายเลน และต้นไผ่ ๒) เก็บพืชผัก นำมาประกอบอาหารโดยใช้เตาแก๊ซชีวมูล ๓) คัดแยกขยะและทำปุ๋ยหมักจากวัสดุธรรมชาติ ๔) ศึกษาการผลิตพลังงานสะอาด จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้แผงโซล่าเซล ๕) เรียนรู้การทำน้ำส้มควันไม้ และ ๖) แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับ

• นักศึกษาได้เรียนรู้พลังงานสะอาดและการจัดการพลังงานทางเลือกที่เกาะพะลวย ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ เกาะต้นแบบของโลกด้าน Green Island โดยคุณ พีระพล สารคง ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ให้เกียรติบรรยายและนำนักศึกษาลงพื้นที่เรียนรู้ฐาน ๑) เศรษฐกิจพอเพียง ๒) พลังงานงานแสงทิตย์จากแผงโซล่าเซล ๓) การผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลม และ ๔) อาคารนิทรรศการตามรอยเสด็จสมเด็จย่า

• นักศึกษาได้ศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล การสื่อความหมายและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และแนวทางการจัดการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

นอกจากนี้ สาขาวิชาฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยจัดการต้นน้ำเกาะสมุย และตัวแทนชุมชนในพื้นที่จัดกิจกรรมศึกษาเรียนรู้ป่าต้นน้ำ ระบบนิเวศป่าดิบชื้น และการสร้างฝายเพื่อพื้นฟูป่าต้นน้ำร่วมกับตัวแทนชาวบ้านและผู้นำชุมชนในพื้นที่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ บริเวณป่าต้นน้ำในพื้นที่ตำบลละไม โดยมีคุณเมธี บุญสุข หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำเกาะสมุย ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ สถานภาพและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงหน้าแล้ง ผลกระทบดังกล่าวต่อการท่องเที่ยวในเกาะสมุย รวมทั้งความรู้ในการสร้างฝายเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้นักศึกษา

หลังจากสร้างฝายฟื้นฟูป่าต้นน้ำเสร็จ มีการทานอาหารเที่ยงร่วมกัน อาจารย์ ดร. อรอนงค์ เฉียบแหลม อาจารย์ผู้สอนวิชา TOI-231 Global Geography and Tourism Resort และอาจารย์สุนทร บุญแก้ว หัวหน้าสาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการจัดการ ซึ่งได้นำคณะนักวิชาการ และนักศึกษาไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่หน่วยจัดการต้นน้ำเกาะสมุย ตัวแทนชาวบ้าน และผู้นำชุมชน เกี่ยวกับความมุ่งมั่นที่สาขาวิชาฯ ได้ผลักดันให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วมโครงการ WBL และสหกิจศึกษาในพื้นที่เกาะสมุยถึง ๓ ภาคการศึกษา รวมระยะเวลา ๑ ปี ซึ่งจะกันผลักดันกิจกรรมทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและสภาวะสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างต่อเนื่องในอนาคต