Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ดร.สุรินทร์ ปาฐกถาพิเศษบทบาทหน่วยงานภาครัฐในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

27/02/2558

2863

เมื่อเร็วๆนี้ หลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานสัมมนา “ถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” โดยมี ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคมและคณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทหน่วยงานภาครัฐในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ณ อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ดร.เลิศชาย ศิริชัย กล่าวว่า บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกัน เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้พัฒนาศักยภาพ ขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความยินดีที่จะมีส่วนร่วมช่วยขับเคลื่อนการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มที่ โดยในขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ภาษา วัฒนธรรมและสังคมอาเซียนขึ้นและพยายามทำให้มีบทบาทร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชถือว่าเป็นเมืองใหญ่ เป็นรอยต่อของคนกลุ่มใหญ่ในอาเซียน น่าจะเป็นศูนย์ของการขับเคลื่อนพลังของพี่น้องกลุ่มต่างๆ ที่อยู่รวมกันก้าวไปสู่การเปิดประชาคมอาเซียนอย่างมีพลัง

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทหน่วยงานภาครัฐในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” โดยมีใจความสำคัญว่า ความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยกับประเทศอื่น 9 ประเทศในอาเซียน ขึ้นอยู่กับองค์กรในระดับท้องถิ่น โดยสิ่งแรกที่จะต้องเพิ่มสมรรถนะการแข่งขัน คือ เรื่องภาษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการติดต่อสื่อสาร ทั้งนี้หากดูที่มวลรวมของรายได้ของ 10 ประเทศในอาเซียนมีมูลค่า 2.44 ล้านล้านดอลลาร์ โดยทำการค้ากันเองประมาณ 25 % อีก75 % ทำการค้ากับคนทั้งโลก ทำอย่างไรให้ 25 % นี้เพิ่มขึ้น ซึ่งวิสาหกิจเอสเอ็มอีเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้และการจ้างงาน ประมาณ 60-65 % ของรายได้ประชาชาติของประเทศไทย ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีส่วนช่วยเหลือ ฝึกฝน เสริมทักษะ และต้องมีบทบาทในการเสริมสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นอีกด้วย

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า อาเซียนคือเวทีของการเชื่อมโยงประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งกำลังเป็นจุดศูนย์กลางของความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจ ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ในศูนย์กลาง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หากสามารถเชื่อมโยงพัฒนาด้านเศรษฐกิจโดยประชาชนมีส่วนร่วม ชุมชนมีส่วนร่วม ชุมชนเข้มแข็ง จังหวัดเข้มแข็ง ประเทศไทยก็จะเข้มแข็งแน่นอน

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหันหน้าเข้าหากัน สร้างบริบทใหม่ของการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยน เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่อาเซียน การจัดกิจกรรมต่างๆจะต้องทำร่วมกัน ทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมกิจกรรมในทุกระดับมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนตระหนักรู้เรื่องนี้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ร่วมมือกันสร้างสมรรถนะในการแข่งขัน ทำอย่างไรที่จะผูกโยงระหว่างกันในระดับท้องถิ่น ทำอย่างไรให้ด้ามขวานนี้เป็นขวานทองอย่างแท้จริง

“อาเซียนเหมือนผืนพรมที่มีหลากหลายสีแต่เป็นผืนเดียว เหมือนนวัตกรรมแห่งศิลปะที่สวยงาม แต่เป็นความสวยงานที่มีผลพวงต่อเนื่องเรื่องเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตและโอกาส ที่แน่นอนคือโอกาสในอนาคตของลูกหลานเราจะมีกว้างขึ้น ชีวิตเต็มไปด้วยทางเลือก ความน่าตื่นเต้น ถ้าเราตระหนักถึงโอกาสเหล่านี้แล้ว ถ้าเราเห็นบทบาทของเราทุกระดับ ถ้าเราเห็นจุดเชื่อมโยงที่เราจะช่วยกันได้ เสริมกันได้ ช่วยกันได้ ถ้าการบริหารจัดการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ถ้าคนตระหนักรู้มากกว่านี้ เตรียมตัวมากกว่านี้ ถ้าคนได้เรียนรู้ภาษาต่างประเทศมากกว่านี้ ผมยังยืนยันว่าประเทศไทยจะยังความสามารถแข่งขันได้มากกว่านี้ สมกับเป็นเจ้าของคำว่าอาเซียน” ดร.สุรินทร์ กล่าวในตอนท้าย

ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์
ภาพโดย นางสาวพิกุลทิพย์ ยุระพันธุ์ นายอนิรุทธ์ ลือชา นักศึกษาช่วยงานส่วนประชาสัมพันธ์