Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผลงาน ผศ. ดร. นฤมล มาแทน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้รับเหรียญทองงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ

25/05/2558

1735

ผลงานการพัฒนาไม้ยางพาราที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยสำหรับป้องกันเชื้อราทดแทนการใช้สารเคมี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นฤมล มาแทน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเหรียญทองจากงานประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ (ITEX) และรางวัลพิเศษจากสมาคมสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาโลก และอีกหนึ่งรางวัลจากประเทศรัสเซีย

ผลงาน “การพัฒนาไม้ยางพาราที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยสำหรับป้องกันเชื้อราทดแทนการใช้สารเคมี” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นฤมล มาแทน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็น 1 ใน 3 ผลงาน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ส่งเข้าร่วมประกวด โดยได้รับรางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษจากสมาคมสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาโลก และอีกหนึ่งรางวัลจากประเทศรัสเซีย

ผลงาน "การพัฒนาไม้ยางพาราที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยสำหรับป้องกันเชื้อราทดแทนการใช้สารเคมี" เป็นการใช้เทคโนโลยีควบคุมการระเหยของกลิ่นน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในระบบเตาอบไม้ของโรงงานอบไม้ยางพารา ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันเชื้อรา ป้องกันสปอร์ราที่หลงเหลือในอากาศที่สามารถกลับมาเจริญเติบโตได้อีกแล้ว ยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์ไม้หอมส่งกลิ่นหอมยาวนานสำหรับนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ในสปา เครื่องประดับ ของใช้ในบ้าน บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ฯลฯ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรูปได้ด้วย นอกจากนี้ไม้ยางพาราที่ผ่านการอบด้วยเทคนิคนี้ยังมีคุณสมบัติต้านการเปียกน้ำ รวมถึงการซึมผ่านของไอน้ำที่สามารถเกิดขึ้นในสภาวะอากาศร้อนชื้น ซึ่งผลงานวิจัยนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัยต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์กับผู้ประกอบการ

ITEX เป็นงานประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยหน่วยงาน MINDS (Malaysian Invention & Design Society) ของประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ผลงานวิจัยระหว่างประเทศต่าง ๆ ตลอดจนเป็นเวทีของการเจรจาซื้อขายระหว่างนักประดิษฐ์ นักวิจัย และผู้ลงทุน โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 26 ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2558 ณ กัวลาลัมเปอร์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีการประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีซึ่งเป็นผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย นักประดิษฐ์และนักวิจัยผู้สนใจทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ กว่า 1,000 ชิ้น จาก 20 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินเดีย โปแลนด์ รัสเซีย เยอรมนี เป็นต้น รวมทั้งประเทศไทยซึ่งส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 20 ผลงาน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ สกว. โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและงานวิจัยจากประเทศไทยได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน 12 ผลงาน เหรียญเงิน 5 ผลงาน และเหรียญทองแดง 3 ผลงาน