Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม จันทร์หวาน : มุ่งเน้นศึกษาวิจัยร่วมกับบริการวิชาการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อปรสิต

อัพเดท : 05/06/2558

7662

อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม จันทร์หวาน อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านปรสิตวิทยาพื้นฐานและปรสิตวิทยาเชิงโมเลกุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางปรสิตที่ใช้แอนติเจนจำพวกสารสกัดหยาบของปรสิตและการใช้รีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผลิตโดยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม โดยมุ่งเน้นศึกษาวิจัยร่วมกับการบริการวิชาการ

อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม จันทร์หวาน เป็นคนอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนบูรณะรำลึก จังหวัดตรัง ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ในปี 2550

ด้วยความคิดและความตั้งใจที่จะทำงานโดยอาศัยการเรียนรู้/ฝึกฝนทักษะจนเกิดความเชี่ยวชาญที่น้อยคนสามารถทำได้ และเป็นงานที่จะทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หลังจากจบการศึกษา อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม จึงตัดสินใจทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์ในสายงานนักวิทยาศาสตร์ ด้านการเลี้ยงตัวอ่อนสำหรับผู้มีบุตรยากที่โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและสนุกกับการทำงานเป็นอย่างมาก

ในระหว่างที่ได้ทำงานที่ชอบเป็นเวลา 1 ปี ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยา อานามนารถ อาจารย์สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทางวิชาการขณะเรียนระดับปริญญาตรี ได้แนะนำทุนการศึกษาโครงการเครือข่ายเชิงกลยุทธ์เพื่อการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา หลักสูตรปริญญาเอกในประเทศ จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยจะต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี และหลังสำเร็จการศึกษาจะต้องมาเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ด้วยความชอบและรักในงานที่ทำอยู่ ทำให้ไม่อยากลาออกจากงาน แต่ด้วยคำพูดของคุณพ่อที่ว่า “โอกาสการเรียนต่อปริญญาเอก นั้นไม่ได้มีผ่านเข้ามาง่ายๆ ที่สำคัญการเรียนต่อจะทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และได้พัฒนาตนเองเช่นกัน” ทำให้ต้องตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต โดยเลือกศึกษาต่อในสาขาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แม้ว่าโดยส่วนตัวจะเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออกหรือพูดบรรยายหน้าชั้นเรียน แต่ด้วยทุนที่ได้รับต้องมาเป็นอาจารย์ จึงตั้งใจเลือกมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีความคุ้นเคยและอยู่ใกล้บ้าน ที่สำคัญผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และชาววลัยลักษณ์ทุกคน น่ารัก มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสังคมที่น่าอยู่อาศัยและทำงาน

ขณะที่ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม บอกว่า ถือเป็นโชคดีอย่างมากที่อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คือ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ และ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงผิวพรรณ มาลีวงษ์ เป็นผู้ที่ดูแลเอาใจใส่ ให้คำปรึกษา/คำแนะนำที่ดีมาโดยตลอดทั้งทางด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต โดยให้โอกาสทำงานวิจัยเพื่อเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “การผลิตแอนติเจนของพยาธิตัวจี๊ดที่จำเพาะโดยเทคนิคดีเอ็นเอสายผสมและการประยุกต์ใช้” ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างยากและต้องใช้เวลาพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดอยู่ถึง 5 ปี โดยผลงานวิจัยชุดตรวจวินิจฉัยนี้ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติฐานข้อมูล ISI จำนวน 3 ฉบับ และนำไปจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรจำนวน 3 เรื่อง ที่สำคัญช่วยให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิตัวจี๊ดของผู้ป่วยได้ถูกต้อง ทำให้สามารถรักษาโรคได้ทันท่วงที

นอกจากนี้ อาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองท่านยังสอนให้เรียนรู้ว่า การเรียนในระดับ ป.เอก นั้นไม่ใช่เรียนเพื่อให้ได้เพียงใบปริญญา แต่จะต้องเรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่นอกเหนือจากวิทยานิพนธ์ ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม จึงเรียนรู้งานทุกอย่าง ตลอดจนเทคโนโลยี/เทคนิค/เครื่องมือต่างๆ นอกเหนือจากงานในหัวข้อวิทยานิพนธ์ รวมทั้งได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ค่อนข้างหลากหลาย ส่งผลให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่วารสารระดับนานาชาติ ในฐานข้อมูล ISI จำนวน 22 เรื่อง โดยในปี 2554 – 2556 มีผลงานที่เป็นชื่อแรกจำนวน 4 เรื่อง ที่มี Impact factor สูงถึง 3.251 เรื่อง Growth and development of Gnathostoma spinigerum (Nematoda: Gnathostomatidae) larvae in Mesocyclops aspericornis (Cyclopoida: Cyclopidae) วารสาร Parasites & Vectors เรื่อง Application of recombinant Gnathostoma spinigerum matrix metalloproteinase-like protein for serodiagnosis of human gnathostomiasis by immunoblotting วารสาร Am J Trop Med Hyg มี Impact factor 2.736 เรื่อง Rapid detection of Opisthorchis viverrini and Strongyloides stercoralis in human fecal samples using a duplex real-time PCR and melting curve analysis วารสาร Parasitol Res. มี Impact factor 2.327 และเรื่อง A recombinant matrix metalloproteinase protein from Gnathostoma spinigerum for serodiagnosis of neurognathostomiasis วารสาร Korean J Parasitol มี Impact factor 0.965

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม ยังคงทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทั้งสองท่านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้เพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญทางด้านปรสิตวิทยาพื้นฐานและปรสิตวิทยาเชิงโมเลกุลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตชุดตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางปรสิตที่ใช้แอนติเจนจำพวกสารสกัดหยาบของปรสิตและการใช้รีคอมบิแนนท์โปรตีนที่ผลิตโดยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม จนถึงปัจจุบันมีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่วารสารระดับนานาชาติ ในฐานข้อมูล ISI รวม 28 เรื่อง

ด้านการสอน อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม เล่าว่า นับจากวันที่เข้าปฏิบัติงานเป็นอาจารย์สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ถือว่า มีประสบการณ์ด้านการสอนน้อยมาก แต่มีความตระหนักอยู่เสมอว่า หน้าที่หลักของอาจารย์คือการสอนนักศึกษาให้เป็นทั้งคนดีที่มีคุณธรรมและคนที่เก่งทางวิชาการในคนเดียวกัน จึงทำให้รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้สอนและอธิบายความรู้ต่างๆ ให้แก่นักศึกษาได้เข้าใจ ที่สำคัญมีความเชื่อว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงพยายามหาวิธีการเรียบเรียงหัวข้อความรู้ต่างๆ ให้มีความเป็นเหตุเป็นผลกัน บรรยายเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามและเข้าใจได้ง่าย ให้ความสนใจและใส่ใจกับนักศึกษาทุกคนในชั้นเรียนไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงบรรยายหรือชั่วโมงปฏิบัติการ พร้อมทั้งกระตุ้นการเรียนรู้ของนักศึกษาโดยการตั้งคำถามให้นักศึกษาช่วยกันคิดวิเคราะห์ และมีแบบฝึกหัดหรือการบ้านที่สอนให้นักศึกษารู้จักคิดเป็นกระบวนการและสามารถอธิบายสิ่งต่างๆ โดยเริ่มจากการหา keyword ที่สำคัญ แล้วค่อยอธิบายนิยามของ keyword เหล่านั้นให้ครบถ้วนและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันให้ได้ ซึ่งมองว่าการสอนให้นักศึกษาคิดเป็นกระบวนการนี้ จะทำให้นักศึกษารู้จักการวางแผนการทำงาน ตลอดจนนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนการดำเนินชีวิตได้

นอกจากการสอนทางวิชาการที่ อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม บอกว่า ยังคงต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เป็นอาจารย์ที่ดีต่อไป อาจารย์ยังเน้นในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักศึกษาด้วย โดยการสอนให้นักศึกษาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักหน้าที่ของตนเอง ตรงต่อเวลา ให้เกียรติผู้อื่น และไม่ทุจริตในการสอบหรือการทำงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเรื่องการทุจริตนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะทุกวันนี้สังคมและประเทศของเราจะสงบสุขได้ต้องเริ่มต้นจากความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ขณะเดียวกันก็บอกให้นักศึกษารู้ว่าความขยัน ความอดทนเพียรพยายาม และความซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ เหมือนอย่างที่อาจารย์มีความเชื่อที่ว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้และไม่มีอะไรยากเกินความพยายามและความตั้งใจของคน”

ด้านการวิจัย อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม ยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทางปรสิต ซึ่งในเบื้องต้นได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า โรคติดเชื้อทางปรสิตในพื้นที่ภาคใต้ค่อนข้างแตกต่างกับทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก ทำให้ในช่วงแรกนั้นคิดโจทย์ปัญหาในการทำงานวิจัยได้ค่อนข้างยาก แต่จากการสังเกตได้พบเห็น วัว/วัวชน อยู่ข้างทางขณะที่เดินทางมาทำงานทุกวัน จึงได้สนใจหาข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยพยาธิในเลือดของวัว ซึ่งพบว่ามีความน่าสนใจและยังมีผู้ศึกษาวิจัยอยู่น้อย ทำให้มีแนวคิดดำเนินงานวิจัยตรวจวินิจฉัยพยาธิในเลือดของวัวชน โดยอยู่ในช่วงดำเนินการพัฒนาศึกษาวิจัย นอกจากนี้ได้วางแผนที่จะมุ่งเน้นศึกษาวิจัยร่วมกับการบริการวิชาการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อปรสิตต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทั้งในคนและสัตว์ที่ติดเชื้อปรสิตในชุมชนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และขยายผลออกไปยังระดับจังหวัดและภูมิภาคต่อไป เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนของการตรวจวินิจฉัย/เฝ้าระวัง/ควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อทางปรสิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในตอนท้าย อาจารย์ ดร. เพ็ญโฉม จันทร์หวาน บอกถึงสิ่งที่ภูมิใจในวันนี้ว่า คือการทำให้พ่อกับแม่ภาคภูมิใจที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกและมีงานทำที่มั่นคง โดยในการดำเนินชีวิตทุกวันนี้ ตัวของอาจารย์เองมีคติง่ายๆ อยู่ว่า “มีสติ ทำหน้าที่ของตนเองให้ดี ให้เกียรติผู้อื่น และเป็นคนดี”
 

 

 

 

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง