Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

นักวิชาการ นักวิจัยจากทั่วประเทศ ร่วมเสนอบทความในงาน “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 7

อัพเดท : 03/07/2558

2491

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 7 ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนา ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด Research for Digital Economy โดยมีนักวิชาการ นักวิจัยจากทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอบทความรวมกว่า 200 บทความ ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มุ่งมั่นในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการโดยส่งเสริมให้มีการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัย สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งในต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะบุกเบิก แสวงหา บำรุงรักษาและถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าและความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมต่อไป ทั้งนี้การจัดประชุมวิชาการระดับชาติ วลัยลักษณ์วิจัยครั้งที่ 7 จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ตอบสนองต่อปณิธานและแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ ชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เครือข่ายบริหารการวิจัย สกอ. ภาคใต้ตอนบน และหน่วยประสานงานสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.ภูมิภาค ภาคใต้) จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 7 หัวข้อ Research for Digital Economy ในวันที่ 2 - 3 กรกฎาคม 2558 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานและประสบการณ์การทำวิจัยของคณาจารย์ บุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาและผู้สนใจ เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่ชุมชน รวมถึงยกระดับคุณภาพผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์และนวัตกรรมในเวทีระดับชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

การประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นผู้บรรยายเปิดการประชุม ในหัวข้อ "Energy management systems and their applications to digital economy industry" นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งมีผลงานวิจัยโดดเด่นสอดคล้องกับแนวคิดการประชุมในครั้งนี้ คือ รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร และรองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ร่วมบรรยายพิเศษ

ในส่วนของการนำเสนอผลงานทางวิชาการ แบ่งเป็น 9 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงหัวข้อพิเศษคือ Symposium on Cancer Biology and Immunomodulation Symposium on Informatics และ Symposium on Informatics มีผู้ส่งผลงานแบบบรรยายและโปสเตอร์เข้าร่วมกว่า 200 บทความจาก 29 หน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผนวกกับการสัมมนาวิชาการ “การพัฒนารูปแบบระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ” สัมมนาวิชาการ R2Q “ จากงานประจำ สู่ผลงานสร้างสรรค์” การเสวนาชุมชน...คนวิจัย “ร่วมขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” การเสวนา “ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกับจังหวัดนครศรีธรรมราช” และเวทีนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยของนักศึกษาผู้รับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนอันสืบเนื่องมาจากงานวิจัยด้วย

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์