Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศ.ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ : บรรยายพิเศษ Energy management systems and their applications to digital economy industry งานประชุมวิชาการ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 7

อัพเดท : 06/07/2558

1694



ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ให้เกียรติบรรยายพิเศษ เรื่อง Energy management systems and their applications to digital economy industry งานประชุมวิชาการ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด เริ่มต้นเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการใช้พลังงานของไทยและในภูมิภาคแถบนี้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการใช้พลังงานที่มีค่าสูง คือมีการใช้พลังงานมากในการทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ซึ่งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและไทย มีอัตราการใช้พลังงานใกล้เคียงกัน แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มีอัตราการใช้พลังงานที่มีค่าต่ำกว่ามาก ตัวเลขอัตราการใช้พลังงานจึงเป็นตัวชี้บ่งว่า มีการใช้ทรัพยากรพลังงานจำนวนมากเพียงใดถึงจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมา ดังนั้น ประเทศไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันได้จะต้องปรับปรุงสมรรถนะการใช้พลังงานให้ดียิ่งขึ้น

ในปี 1980 - 1990 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานมากขึ้นแต่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนาม และในปี 1990 – 2011 มีอัตราการใช้พลังงานแบบก้าวกระโดดจาก 118 เป็น 206 เพิ่มขึ้นถึง 75% ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเติบโต ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้พลังงาน (ถ่านหิน พลังงานน้ำ Bioenergy น้ำมัน) มากรองจากภาคการขนส่งในอัตราการเพิ่มที่สูงมาก

ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีมากถึง 71 กิกะวัตต์ จึงทำให้มีแนวคิดที่จะติดตั้งพลังงานนิวเคลียร์แต่เนื่องจากเกิดสึนามิขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้ประเทศไทยชะลอโครงการนี้ออกไป และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในปี 2021 เป็น 25% และในปี 2030 จะลดการใช้พลังงานลง 25%

ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด พูดต่อถึงมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงาน ว่า จะต้องมีการใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หลอด LED สามารถลดพลังงานได้ถึง 75% อย่างไรก็ตาม พลังงานที่ใช้มากกว่า 50% เป็นการใช้กับเครื่องปรับอากาศ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกระบวนการใช้พลังงานโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีระบบการจัดการพลังงาน และมีการใช้ ICT ติดตั้ง sensor เพื่อการแจ้งเตือน แต่มีสิ่งที่ท้าทายคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่กำกับนโยบายกับผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าต้องทำงานอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยง ซึ่งจะมีประโยชน์ในการวางแผน มีการออกนโยบายมาตรฐานการใช้พลังงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคว่า สินค้าที่ผลิตได้เป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน มีระบบการจัดการพลังงานโดยผู้ใช้มีส่วนร่วม มีการแสดงผลให้เห็น เช่น แจ้งผลออนไลน์แบบ real time

ด้านกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมองว่า ในปี 2564 จะพยายามเพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยเป็น 2 % จากปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีความจริงใจในการใช้งานวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มีการใช้นวัตกรรม โดยความรู้ที่ได้จะทำให้อยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและยั่งยืนโดยการใช้เทคโนโลยี ทั้งนี้ ต้องมียุทธศาสตร์ส่งเสริมกาลงทุนการวิจัย เพื่อทำให้อุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยต้องลงทุนด้านนักวิจัยให้ได้มาตรฐาน มีแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมลงทุนในการวิจัย ต้องมีการลงทุน Mega Project ใช้องค์ความรู้ของต่างประเทศมาพัฒนาบุคลากรของไทย ที่สำคัญต้องมีการต่อยอดเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้จากภาควิชาการและสถาบันการศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด เล่าถึง Digital Economy ว่า เน้นการอาศัยข้อมูลมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่า โดยมีการใช้ hardware แบบ broad band เพื่อการสื่อสาร ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึง Internet และการใช้ที่มีประสิทธิภาพ ในส่วนของภาคการผลิตต้องมี Smart Manufacturing เพื่อให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้าน ICT ใช้คณิตศาสตร์เป็นตัวแก้ปัญหา โดยจำลองเหตุการณ์นั้นๆ

ในส่วนวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมไปสู่ยุค Industry 4.0 ที่ประเทศทางแถบยุโรปกำลังพยายามขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด เล่าว่า เป็นการนำองค์ความรู้ด้าน ICT มาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลครบวงจรแบบ Smart Factory ซึ่งมีความท้าทายเนื่องจากข้อมูลเป็นปัจจัยพื้นฐาน จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ที่สำคัญพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น อุตสาหกรรมประเภทโรงเหล็ก กำหนดจะต้องใช้พลังงานไม่เกิน 0.5 กิโลลิตรต่อตัน หรือปิโตรเลียมไม่เกิน 11.9 กิโลจูลต่อตัน เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด ได้ยกตัวอย่างมาตรการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงาน เช่น การตรวจจุดรอยรั่วต่างๆโดยใช้อุปกรณ์อุตราซาวด์ การปรับกระบวนการควบคุมให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้กระบวนการ optimization ต้องมีการตั้งค่า setpoint ให้เหมาะสมเพื่อควบคุมการไหลของพลังงาน และมีการใช้มาตรการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า พร้อมทั้งยกกรณีศึกษาของภาควิชาการไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อ CUBEMS (Chulalongkorn University Building Energy Management System) ซึ่งเป็นต้นแบบการจัดการการใช้พลังงานของภาควิชา โดยผู้ใช้ไฟจะเข้าถึงข้อมูลการใช้พลังงานแบบ real time ทำให้สามารถสร้างความตระหนักรู้ว่า ทุกคนมีส่วนในการใช้พลังงานมากน้อยแค่ไหนและมีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงาน

ในตอนท้าย ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย ได้พูดสรุปว่า digital economy ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งควรจะมีหลักการพื้นฐานกำกับ คือ ความพอประมาณ ใช้พอดีพอประมาณ ความมีเหตุผล การจะใช้เทคโนโลยีต้องรู้ถึงความจำเป็นต่อประเทศไทย และภูมิคุ้มกัน มีการวางแผน ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่นำมาใช้ มีระบบการป้องกันและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้

สมพร อิสรไกรศีล ส่วนประชาสัมพันธ์ ข่าว