Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

รศ. ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี บรรยายพิเศษเรื่อง เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อการศึกษา LekOboT

อัพเดท : 08/07/2558

2741



รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร บรรยายพิเศษเรื่อง เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อการศึกษา LekObot นวัตกรรมเพื่อสร้างนวัตกร ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 7 ภายใต้แนวคิด Research for Digital Economy เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี เล่าถึงกระบวนการสร้างชิ้นงานพลาสติกว่า เริ่มจากนักออกแบบสร้างชิ้นงานบนคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรม CAD (computer aided design) จากนั้นนำไฟล์ที่ได้ไปสร้างแม่พิมพ์ โดยการเซาะด้วยเครื่อง CNC และนำแม่พิมพ์ไปฉีดโดยเครื่องฉีดพลาสติก กระบวนการนี้มีต้นทุนสูงมาก ใช้เวลานาน และที่สำคัญคือ ชิ้นงานต้องปราศจากความผิดพลาด เป็นการลดทอนโอกาสที่นักเรียนจะทดลองทำชิ้นงานของโครงงานหรือชิ้นงานนวัตกรรม แต่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ “LekOBoT” ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติกโดยการเรียงซ้อนพลาสติกเหลวขึ้นเป็นชั้นๆ โดยตรงจากไฟล์ หรือเรียกว่าการทำ Rapid Prototype โดยมีต้นทุนของเครื่องอยู่ที่ 7,000 บาท นักเรียนและครูสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ และถือเป็นประโยชน์ที่เห็นและสามารถใช้งานได้ของวิศวกรรมแมคาทรอนิคส์ (Machatronics Engineering)

รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ ได้บอกเล่าต่อว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ LekObot ยังสามารถใช้สอนนักเรียนให้ประกอบเครื่องขึ้นมาใช้งานได้เอง อันเป็นการปลูกฝังทักษะความเป็นช่างน้อยๆ ให้กับตัวนักเรียนได้ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบูรณาการสหวิทยาการเพื่อตอบโจทย์ในการเรียนการสอน ที่เรียกย่อๆ ว่า STEM ซึ่งประกอบด้วย Sciences Technology Engineering Mathematics โดยสามารถประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดโครงงานที่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือในการสร้าง Innovative mind ให้กับนักเรียนนักศึกษา โดยคาดหวังว่า หากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ “LekOBoT” สามารถเติมเต็มแนวคิดของนักเรียนให้เป็นจริงได้เพียง 0.1% จะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมของประเทศไทยได้ถึง 7,400 นวัตกรรม (คิดจากจำนวนนักเรียนอายุระหว่าง 6-14 ปี จำนวนประมาณ 7.4 ล้านคน ในปีการศึกษา 2557) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย นั่นคือ เป้าหมายสูงสุดของ “LekOBoT” คือ “นวัตกรรมเพื่อสร้างนวัตกรใหม่ (Innovation for Innovator)”



“LekOBoT” ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถบรรลุภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย การวิจัย การบริการวิชาการ โดยการเผยแพร่ให้กับนักเรียนตามโรงเรียน การเรียนการสอน ได้สอนให้กับนักศึกษาของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร เพื่อสร้าง trainer ไปตามโรงเรียนต่างๆ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยการจัดทำชิ้นงานพลาสติกเป็นรูป “ลุงเท่ง” ซึ่งเป็นตัวหนังตะลุงสัญลักษณ์ของภาคใต้ เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ทั้งนี้ เป้าหมายต่อไปของ “LekOBoT” คือ การเป็น Community Project ที่มีนักออกแบบและใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ชาวไทยช่วยกันปรับปรุงและแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ ในการนำเอา “LekOBoT” ไปใช้งาน

นอกจากนี้ บทพิสูจน์ความเป็นนวัตกรรมของ “LekOBoT” อีกมิติหนึ่ง คือ การได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2558 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเหรียญเงินจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 43 “the 43rd International Exhibition of Inventions of Geneva” ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และเป็นหนึ่งในสี่ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าประกวด “รางวัลเจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ”

รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี สรุปในตอนท้ายว่า “LekOBoT” เป็นเครื่องมือในการแปลงความคิดของนักเรียนนักศึกษาให้เป็นจริงและสามารถใช้งานได้ โดยเป็น “เบ็ด” ให้นักเรียนนักศึกษานำไปตกปลาที่ตนเองต้องการ ที่สำคัญคือเป็นวัสดุทางการศึกษาราคาประหยัด ประกอบง่าย ใช้เวลาน้อย ชิ้นส่วนหาซื้อง่าย และสามารถสร้างพื้นฐานวิศวกรให้เป็นวิศวกรที่มีคุณภาพ



สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
นันทพร ขันธศุภหิรัญ ภาพ