Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้บริหาร “พบประชาคม มวล. สานสายใย...เชื่อมใจ มวล.”

10/07/2558

2550


ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ อาจารย์ ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม รองศาสตราจารย์ ดร.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และ พล.ต.ศรีศักดิ์ เลิศล้ำ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ร่วมพบปะประชาคมวลัยลักษณ์ “สานสายใย..เชื่อมใจวลัยลักษณ์” เมื่อที่ 8 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และประเด็นต่าง ๆ เพื่อความรู้ความเข้าใจ และตระหนักร่วมกันของประชาคมวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น ได้กล่าวต้อนรับประชาคมวลัยลักษณ์ และเน้นย้ำถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารในสองประเด็นหลัก คือ ข้อเท็จจริงเรื่องศูนย์การแพทย์ และการมาร่วมกันมองอนาคตของมหาวิทยาลัย โดยกล่าวขอบคุณผู้บริหารชุดก่อนๆ ที่ได้วางรากฐานของศูนย์การแพทย์แห่งนี้ ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงโปรไฟล์ของมหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ โดยบอกเล่าปัญหาเรื่องการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ที่เกิดขึ้นและส่งผลเสียหายต่อมหาวิทยาลัยทั้งทางตรงและทางอ้อม มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท ทางตรงคือมูลค่าเงินที่ต้องจ่าย ทางอ้อมคือ เสียโอกาส และได้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงพบว่าในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้นมีการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับ นี่เป็นผลที่สภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้สอบสวนมา โดยสภา ฯ ได้มีมติให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันดำเนินการให้ถึงที่สุด เมื่อมีสิ่งบกพร่องเกิดขึ้นก็ต้องทำสิ่งนั้นให้ชัดเจน ใครเป็นผู้กระทำผิดและใครไม่ได้ทำผิด เพื่อให้โครงการนี้เดินต่อไปอย่างสง่าผ่าเผย และที่สำคัญศูนย์การแพทย์ต้องเกิดขึ้นให้ได้ เมื่องบประมาณยังมีครบทุกบาททุกสตางค์

พร้อมแจ้งถึงความก้าวหน้า และแผนการดำเนินงานโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมระบบสาธารณูปการ โดยมี 3 ขั้นตอน คือ ระยะการตัดสินใจก่อนการดำเนินการ ได้มีการตรวจสอบว่างบประมาณยังอยู่หรือไม่ มีสิทธิ์ใช้หรือไม่ การบอกเลิกสัญญามีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าเงินยังอยู่ มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการก่อสร้างต่อได้ ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนด TOR คณะกรรมกำหนดราคากลาง โดยใช้รูปแบบรายการเดิมทั้งหมด BOQ เดิมทั้งหมด ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำมันลด ทำให้ราคากลางที่ประมาณลดลงไปจากเดิม 2158 ล้านบาท ราคากลางใหม่ 2133 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ จึงได้ดำเนินการตาม ROADMAP ที่วางไว้ โดยได้ประกาศ TOR ในเดือนพฤษภาคม 2558 เพื่อให้ประชาพิจารณ์ และเปิดขายแบบในราคาชุดละ 50,000 บาท มี 6 บริษัทเข้ามาซื้อแบบ และมีผู้ยื่นข้อเสนอภายในกกำหนดเวลาจำนวน 2 ราย คือบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทพาวเวอร์ไลน์ อินจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผลการพิจารณาทั้งสองรายผ่านคุณสมบัติทางเทคนิค ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 มหาวิทยาลัยฯ ได้กำหนดให้ผู้ผ่านคุณสมบัติทั้งสองรายเสนอราคาแข่งขันด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร ผลปรากฏว่า บริษัทพาวเวอร์ไลน์ อินจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาต่ำสุดในวงเงินอยู่ที่ 2,128 ล้านบาทถ้วน ลดจากราคากลาง (2,133,197,000 บาท) จำนวน 5,197,000 บาท (ครม.อนุมัติไว้ 2158 ล้านบาท ต่างกัน 30 ล้าน ) และมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จากปีงบประมาณ 2554-2560 เป็นปีงบประมาณ 2554-2562 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอนุมัติแล้ว มหาวิทยาลัยฯ จึงจะทำสัญญากับบริษัทพาวเวอร์ไลน์ อินจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าประมาณปลายเดือนกรกฎาคม – ต้นเดือนสิงหาคม 2558 จะสามารถลงนามในสัญญาได้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 1400 วัน จะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2562

“มาถึงวันนี้ผมมีความเชื่อมั่นว่าเราจะเดินหน้า สร้างศูนย์การแพทย์ให้ได้ แต่นี่ไม่ใช่จุดจบของศูนย์การแพทย์ ยังมีอีกหลายอย่างที่จะต้องทำ วงเงินที่ได้อนุมัติทั้งหมดถึง 5000 กว่าล้าน งบ 2,158 ล้าน จึงเป็นเพียงส่วนอาคารและระบบสาธารณูปโภค ส่วนที่เหลือจะต้องนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ระบบสารสนเทศการเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะต้องมีอะไรบ้าง หาบุคลากร ระบบบริหารจัดการซึ่งศูนย์การแพทย์เป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย เทียบเท่ากับสำนักวิชา ในระหว่างที่มีการก่อสร้าง 1400 วัน จะต้องดูแลจัดหาระบบต่างๆอุปกรณ์ต่างๆ ต้องถูกติดตั้งแล้วเสร็จครบถ้วนก่อนวันสุดท้ายของการก่อสร้าง กระบวนการดำเนินการจะต้องกำหนดขั้นตอนดังนี้ 1.ศึกษาความต้องการเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง 2. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อพร้อมเข้าไปติดตั้งในอาคาร 3. ออกแบบระบบ และติดตั้งระบบ ICT ที่ทันสมัย 4. จัดหาบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นหมอ นักวิทยาศาสตร์ พยาบาล จะต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อม ”

เราจะจัดระบบบริหารอย่างไร ระบบศูนย์การแพทย์เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวพันธกับระบบบริหารวิชาการของมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย บริการวิชาการ ที่ทุกสาขาวิชามีส่วนเกี่ยวข้อง ระบบบริหารของศูนย์การแพทย์เทียบเท่าสำนักวิชา แต่มีระบบการบริหารที่แตกต่างจากสำนักวิชา มีระบบบัญชีเงินเดือนที่แตกต่างจากสำนักวิชา ระบบความดีความชอบที่แตกต่าง แต่อยู่ในกรอบของมหาวิทยาลัยในกำกับ เมื่อมีโครงสร้างชัดเจนจะเริ่มมีโครงการโรงพยาบาลนำร่อง หรือโรงพยาบาลจำลอง ต้องเกิด เพื่อจำลองระบบบริหารจัดการของศูนย์การแพทย์ ซึ่งกำลังหารือกันอยู่ อยากให้ โรงพยาบาลนำร่องนี้สามารถดำเนินการได้จริงภายในปีนี้ และรักษาการแทนอธิการบดีได้เน้นความสำคัญถึงคำถามเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยย้ำว่า โครงการขนาดใหญ่แบบนี้จะต้องมีการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ระบบก่อสร้างต้องรองรับการดูแลกำจัดขยะ ของเสีย มลพิษอันตรายต่าง ๆ ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญ และถามต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากศูนย์การแพทย์เกิดขึ้น ผลกระทบในเรื่อง ระบบบริการ ที่จอดรถ ที่พัก โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ระบบจราจร ทั้งนี้ทุกอย่างจะต้องเตรียมความพร้อมและต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนวันสุดท้ายของการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ ฯ ต่อจากนั้น เปิดโอกาสให้ประชาคมวลัยลักษณ์ได้แลกเปลี่ยน ซักถาม ตอบปัญหา ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในตอนท้าย ดร.สุเมธ แย้มนุ่น ได้กล่าว “ผมอยากเห็นบรรยากาศเอื้ออาทร ปรองดอง และร่วมแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า จะทำประโยชน์ให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมขจัดปัญหาอุปสรรคให้ลุล่วง ขอขอบคุณประชาคมวลัยลักษณ์ อยากให้ทุกคนมั่นใจว่าผู้บริหารชุดนี้ทำงานด้วยความบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ และอยากเห็นความเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คู่ไปกับการเจริญเติบโตของทุกคนที่นี่ ”