Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดสอน Marine Ecology ครั้งที่ 23 น.ศ.ญี่ปุ่นร่วมอบรม

21/07/2558

3864

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต จัดสอนวิชานิเวศวิทยาทางทะเล (Marine Ecology) ภาคฤดูร้อน ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม - 20 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต ภายใต้การสนันสนุน จากบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด

โดยในพิธีเปิดโครงการเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะผู้จัดการโครงการ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน คุณศันสนา มลายอริศูนย์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เชพรอนฯ ร่วมต้อนรับผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นนิสิต นักศึกษาจาก 10 สถาบันทั่วประเทศ จำนวน 28 คน และนักศึกษาจาก Seikei University ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมศักดิ์ ดรุมาศ กล่าวในพิธีเปิดว่า โครงการสอนวิชานิเวศวิทยาทางทะเล (Marine Ecology) ภาคฤดูร้อนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจทั่วประเทศได้เรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกและกระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นในทะเล การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและอย่างยั่งยืนจากทรัพยากรในทะเล รวมถึงเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศวิทยาทางทะเล โดยรูปแบบการเรียนการสอนประกอบด้วย การสอนในภาคบรรยาย การพูดคุยพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยฯ และกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนตามความสนใจของผู้เรียน ส่วนการสอนในภาคปฏิบัติการนั้น นักศึกษาจะได้ทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยฯ การออกภาคสนาม การลงเรือสำรวจทางทะเล ดำน้ำดูแนวปะการัง และการปฏิบัติการศึกษาทางสมุทรศาสตร์

หลังจากจบการศึกษาภาคบรรยายและปฏิบัติการแล้ว นักศึกษาจะต้องทำโครงการวิจัย เพื่อฝึกให้คิดการตั้งโจทย์ปัญหา การวางแผนการทดลอง การลงมือทำการทดลอง การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการทดลอง เขียนรายงาน และมีการนำเสนอผลงานต่ออาจารย์หรือนักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์วิจัยและเพื่อนนักศึกษาด้วยกันอีกด้วย ทั้งนี้คาดว่ากิจกรรมต่างๆของโครงการนอกจากนักศึกษาจะได้รับความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว ยังจะเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างเพื่อนนักศึกษาที่อยู่ในวงการทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

 

ในปีนี้โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเป็นปีที่ 23 แล้ว โดยมีนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 28 คน ประกอบด้วย ม.เชียงใหม่ 4 คน ม.แม่โจ้ 1 คน ม.เกษตรศาสตร์ 1 คน ม.รามคำแหง 1 คน ม.ขอนแก่น 2 คน ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 2 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คน ม.มหิดล 7 คน ม.มหิดล กาญจนบุรี 2 คน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1 คน และม.วลัยลักษณ์ 5 คน นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาจาก Seikei University ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 5 คนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย



 

โอกาสนี้นิสิต นักศึกษาและผู้จัดโครงการได้ร่วมกันจัดพิธีสงฆ์ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติวงษ์ ตันติโชดก ผู้ก่อตั้งโครงการการเรียนการสอนนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน และร่วมกันปล่อยปลาช่อนทะเลกว่า 1,000 ตัว ลงสู่ทะเลอันดามัน บริเวณชายหาด หน้าศูนย์วิจัยฯอีกด้วย

 

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธํ