Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

การรักษาความปลอดภัยในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อัพเดท : 24/07/2558

3454



ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมประชุมหารือกับ นายปริญธร ทองศิริ นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา ผู้แทนสภานักศึกษา ผู้แทนชมรมประดู่อาสาพยาบาล รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและกำหนดมาตรการระบบการรักษาความปลอดภัย

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น ได้สรุปแนวทางการดำเนินงานเป็น 4 ด้านหลัก คือ ในสภาวะเร่งด่วนให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโดยผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมกัน วิเคราะห์ สังเคราะห์และกำหนดมาตรการดังนี้ ปรับปรุงระบบแสงสว่าง การติดตั้งเสาสูงในจุดสำคัญเพื่อเพิ่มแสงสว่าง รวมทั้งปรับปรุงระบบที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ การจัดระบบรักษาความปลอดภัย โดยให้พิจารณาสัดส่วนของพนักงานรักษาความปลอดภัยต่อพื้นที่รับผิดชอบให้มีความเหมาะสม ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของพนักงานรักษาความปลอดภัย การกำหนดขอบเขตพื้นที่ (Zoning) โดยให้จัดลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่นักศึกษา คณาจารย์ ใช้ในการเรียนการสอนหรือทำกิจกรรม ควรจัดให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยดูว่านักศึกษามีความถี่ในการใช้ชีวิตในพื้นที่ใดมากเป็นพิเศษ มหาวิทยาลัยสามารถลงทุนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ความสะดวกในการใช้พื้นที่ดังกล่าว ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ปรับปรุงให้มีศักยภาพในการใช้งานมีระบบที่สามารถเฝ้าระวังเหตุและติดตามได้เมื่อมีเหตุ โดยมีศูนย์รวมของภาพจากพื้นที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัย มีผู้เฝ้าระวังเหตุจากภาพดังกล่าว เพื่อประสานงานการแก้ไขปัญหา หรือป้องปราม กำหนดจุดติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ประตูทางเข้าหลัก ให้สามารถเก็บรายละเอียดที่จำเป็นเช่น ป้ายทะเบียนรถ ผู้ขับขี่ ฯลฯ ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน

ในด้านที่สองการวางระบบเพื่อจัดการตัวเอง เนื่องจากในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยภาพรวม อาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจากปกติไปบ้างในบางประการ แต่ต้องปรับเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยการกำหนดเวลาออกนอกมหาวิทยาลัยในเขตหอพักนักศึกษา อาจพิจารณาตามความจำเป็นสำหรับบางกลุ่มที่มีความจำเป็น มาตรการวิธีการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นเขตปลอดอาวุธ ต้องดำเนินการ ตลอดจนการพิจารณาเรื่องระเบียบวินัยนักศึกษา และการจัดระบบที่ปรึกษาหอพักให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับในด้านที่สาม การเรียนรู้พฤติกรรมทางสังคม และการปรับเปลี่ยนตัวเองให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ สำหรับศูนย์เรียนรู้ 24 ชั่วโมง หรือพื้นที่ที่นักศึกษาจะต้องใช้ ต้องจัดการดูแลพื้นที่นี้ให้ดีที่สุด และข้อสุดท้ายเรื่องระบบสื่อสาร (CCTV) เมื่อเกิดเหตุ ทำอย่างไรให้เราเข้าถึงเหตุการณ์ให้เร็วที่สุด รวมทั้งสายตรวจ รปภ. การปรับปรุงการลาดตระเวน และกำหนดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น กล่าวในตอนท้าย โดยเน้นย้ำว่ามหาวิทยาลัยมีภาระหน้าที่ตามพันธกิจหลักซึ่งต้องทำให้มีคุณภาพ แต่ขณะเดียวกันการดูแลนักศึกษา ให้การศึกษาที่ดี การให้คำแนะนำ การใช้ชีวิตที่ปลอดภัยและความสะดวกในการอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ มหาวิทยาลัยควรลงทุน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวโดยนักศึกษาได้รับประโยชน์นับเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่า