Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

10 เรื่องราววิจัยที่น่าภาคภูมิใจ ในปีงบประมาณ 2558

อัพเดท : 19/10/2558

3246

สถาบันวิจัยและพัฒนา ขอยกย่องความวิริยะอุตสาหะของบุคลากรสายวิชาการ สายปฏิบัติการและนักศึกษา ที่สร้างความสำเร็จด้านการวิจัยเป็นไฮไลท์ของปีงบประมาณ 2558 ให้ประชาคมมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกันภาคภูมิใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับ คณาจารย์ นักศึกษา ที่พากเพียรอยู่บนเส้นทางวิชาการ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในอนาคต

ห้าความสำเร็จสู่ University-Social Engagement มหาวิทยาลัยในใจสาธารณชน

1) 1 ใน 6 งานวิจัยดีเด่นด้านชุมชนพื้นที่ สกว. ปี 2558: ผลงาน เรื่อง การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ของ ดร. พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ และคณะ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 6 งานวิจัยดีเด่นด้านชุมชนพื้นที่ ประจำปี 2558 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยผลกระทบจากการวิจัย คือ การตื่นตัวต่อการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของชุมชนท่องเที่ยว ทั้งในแง่ของการเสริมสร้างทุนทางวัฒนธรรมในด้านองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการท่องเที่ยว การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม

2) 2 รางวัลระดับนานาชาติที่ไม่ห่างไกลชุมชน: ผลงานของ รศ.ดร. วัฒนพงศ์ เกิดทองมี และ รศ.ดร. จิตรบรรจง ตั้งปอง ที่ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์จาก 43rd International Exhibition of Inventions of Geneva และ ทุนจากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย พร้อมกัน เป็นตัวอย่างของงานที่มีคุณค่าทางวิชาการระดับสากลควบคู่ไปกับคุณประโยชน์ในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดย เครื่องพิมพ์ 3 มิติประกอบง่ายราคาถูก ของ รศ.ดร. วัฒนพงศ์ สามารถกระตุ้นความคิดนักเรียนให้สร้างสรรค์นวัตกรรมในกระบวนการศึกษายุคใหม่ และ นาโนอีมัลชันโลชันที่มีส่วนผสมของพืชพื้นถิ่น รศ.ดร. จิตรบรรจง สามารถเพิ่มมูลค่าสมุนไพรท้องถิ่น

3) 3 กรณีศึกษาพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมของ Engagement Thailand: ผลงาน 3 เรื่อง ของ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้แก่ 1) การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในบริบทของการเปลี่ยนแปลง: กรณีชุมชนแม่เจ้าอยู่หัว อ. เชียรใหญ่ จ. นครศรีธรรมราช โดย ดร. เลิศชาย ศิริชัย และคณะ 2) การปรับปรุงกระบวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน และคณะ และ 3) รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงสูงจังหวัดนครศรีธรรมราช: จากระดับตำบล“กำแพงเซาโมเดล” ถึงระดับอำเภอ “ลานสกาโมเดล” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. จรวย สุวรรณบำรุง และคณะ ผ่านการคัดเลือกเป็น 3 ในทั้งหมด 42 เรื่องของทั้งประเทศ เพื่อจัดทำเป็นหนังสือ “กรณีศึกษาพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม” ของเครือข่าย Engagement Thailand โดย สถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งทุกกรณีเป็นผลจากการทำงานวิชาการของบุคลากรมหาวิทยาลัยกับชุมชนและผู้ประกอบการต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี

4) 4 หน่วยงานสานพันธกิจสัมพันธ์ลุ่มน้ำปากพนัง: มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงสืบสานภารกิจวิจัยและบริการวิชาการ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับศูนย์อำนวยการและประสานงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผ่านการดำเนินการด้วย 4 กลไกหลักของมหาวิทยาลัย คือ 1) โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง สถาบันวิจัยและพัฒนา 2) คลินิกเทคโนโลยี ศูนย์บริการวิชาการ 3) โครงการศูนย์ WMS พันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม สำนักวิชาการจัดการ และ 4) โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ระหว่างมวล. และ สกว. โดยมิติการทำงานในปัจจุบัน เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ การจัดการเพื่อส่งเสริมอาชีพที่อนุรักษ์วิถีดั้งเดิมของชุมชน

5) 5 งานแสดงระดับชาติ 10 งานวิจัยติดดิน-กินได้-ใช้ประโยชน์จริง: จากงบประมาณยุทธศาสตร์ ประจำปี 2558 โครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางและศูนย์บริการ/แหล่งเรียนรู้เฉพาะทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ได้สร้างรูปแบบใหม่ในการดำเนินการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ 10 คน เข้าร่วมกับศูนย์วิจัยความเป็นเลิศและหน่วยวิจัย ต่อยอดผลงานที่มีคุณค่า ขยายผลสู่งานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมด้านการเกษตร นอกจากการวิจัยพัฒนานวัตกรรมในมหาวิทยาลัย และ ลงพื้นที่บริการวิชาการถ่ายทอดเทคโนโลยีใน 10 หัวข้อ แล้ว โครงการยังทำให้มีการเผยแพร่ สื่อสารงานวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สู่สาธารณชน ในเวทีระดับชาติ 5 โอกาส ได้แก่ 1) การประชุมวิชาการนานาชาติ Princess Maha Chakri Sirindhorn Congress 2) การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 11 3) การประชุมใหญ่โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา ครั้งที่ 3 4) งาน Regional Research Expo 5) งาน Thailand Research Expo 2015 รวมทั้ง งานวลัยลักษณ์เกษตรแฟร์

ห้าความสำเร็จสู่ University Ranking มหาวิทยาลัยในอันดับสากล

6) 1 ในผู้ร่วมสร้างภาพระดับเซลล์ด้วยอัลตราซาวด์ได้เป็นครั้งแรกของโลก: Three-dimensional imaging of biological cells with picosecond ultrasonics ซึ่งเป็นผลงานแบบ First Author ของ ผศ.ดร. สรศักดิ์ ด่านวรพงศ์ ร่วมกับ นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ได้รับเกียรติให้เป็นบทความขึ้นปก และ Editor’s pick ของ Applied Physics Letters เป็นวารสารฟิสิกส์ชั้นนำของโลก ที่จัดพิมพ์โดย American Institute of Physics (AIP) เป็นการสาธิตใช้อัลตราซาวด์ความถี่สูงมากสร้างภาพระดับเซลล์ที่มีกำลังแยกสูง (150 นาโนเมตร)เมื่อเทียบกับกำลังแยกของเครื่อง MRI มาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (500 ไมโครเมตร) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมการตรวจสอบเซลล์สิ่งมีชีวิต และเครื่องมือวินิจฉัยทางการแพทย์ ยุคใหม่ต่อไป

7) 1 ใน 5 ผู้แทนประเทศไทยในการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก: ดร. พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก Global Young Scientist Summit ระหว่างวันที่ 18 – 23 มกราคม 2558 ณ ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ และในการนี้ได้รับโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

8) จารึกผลงานไว้ให้อ้างถึงในฐานข้อมูลวารสารโลก: จากผลงานวิจัยนานาชาติสะสมในฐานข้อมูล ISI ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 จนถึงปีงบประมาณ 2558 มากกว่า 460 บทความ ทำให้จำนวนครั้งในการอ้างถึงหรือ citation ผลงานเหล่านี้ ในฐานข้อมูล ISI เพิ่มขึ้นเป็นลำดับในทุกปี รวมทั้งหมด มากกว่า 2500 ครั้ง และค่า h-index สถาบันเพิ่มเป็น 23 ในขณะที่ h-index บุคคล สูงสุดยังเป็นของ รศ.ดร. ก้าน จันทร์พรหมมา ที่ 16 ในส่วนวารสารในฐานข้อมูล SCOPUS บทความของ ดร. จิราพร ชินกุลพิทักษ์ ได้รับ citation ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 รวมเข้าสู่หลักร้อยครั้ง ซึ่งการอ้างถึงหรือ citation นี้ เป็นหนึ่งในสามเกณฑ์สำคัญที่ใช้จัด University Rankings โดยสองสถาบันหลักของโลก คือ QS และ Times Higher Education

9) บัณฑิตศึกษา มวล. ประกาศคุณภาพในฐานข้อมูลวารสารโลก: ในปี 2558 จำนวนบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติตามฐานข้อมูล ISI/Scopus ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าสู่หลักร้อยเรื่องเป็นปีที่สองติดต่อกัน ในจำนวนนี้มีผลงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาบัณฑิตหลักสูตรต่างๆของมหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในวารสารชั้นนำที่มี ISI Journal Impact Factor (JIF) สูง ซึ่งสะท้อนถึงคุณภาพของการวิจัยควบคู่กับการจัดการเรียนการสอนบัณฑิตที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างจากสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้แก่ ผลงานใน Applied Energy (JIF 5.613) และ Food Chemistry (JIF 3.259), จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ผลงานใน Dalton Transactions (JIF 4.197) และ Journal of Agricultural and Food Chemistry (JIF 3.107), จากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ได้แก่ ผลงานใน Materials and Design (JIF 3.501) และ European Journal of Wood and Wood Products (JIF 1.105), จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ได้แก่ ผลงานใน Lipids (JIF 2.353) และ Gastroenterology Research and Practice (JIF 1.749)

10) 1 ในวารสาร Top Ten จากประเทศไทยในฐานข้อมูลวารสารโลก: Walailak Journal of Science and Techology ได้รับค่า SJR (SCImago Journal Ranking) เท่ากับ 0.207 ซึ่งเป็นค่าสูงลำดับที่ 10 จากวารสารไทย 26 วารสาร ที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีชื่อเสียงระดับโลกเจ้าของ Beall’s List คือ Jeffrey Beall ส่งคำอวยพร “ Best wishes for the success of the Walailak Journal of Science and Technology” นอกจากนี้ในปี 2558 WMS Journal of Management ของสำนักวิชาการจัดการ เข้าสู่วารสารกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มสูงสุดของฐานข้อมูล Thai-Journal Citation Index (TCI)