Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ลงนามสัญญารับทุนมูลค่า 950,000 บาท กับบริษัท อิมพีเรียลแอสตา จำกัด

อัพเดท : 13/01/2559

2761

 

 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและเครือข่ายสังคม ในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามในสัญญารับทุนโครงการวิจัยเรื่อง “Continuous Astaxanthin Production by Green Alga Haematococcus pluvialis : การผลิตแอสตาแซนธินแบบต่อเนื่องโดยใช้สาหร่ายสีเขียว Haematococcus pluvialis” กับคุณสรัล ลีสวรรค์ กรรมการบริหาร บริษัท อิมพีเรียลแอสตา จำกัด มูลค่าโครงการ 950,000 บาท โดยมี ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร หัวหน้าโครงการ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมลงนามเป็นพยาน

โครงการวิจัยเรื่อง “การผลิตแอสตาแซนธินแบบต่อเนื่องโดยใช้สาหร่ายสีเขียว Haematococcus pluvialis” เป็นความร่วมมือด้านงานวิจัยระหว่าง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กับ บริษัท อิมพีเรียลแอสตา จำกัด เพื่อพัฒนาระบบเลี้ยงสาหร่ายสีเขียวแบบใหม่ที่ทันสมัย สามารถนำไปสู่การลดต้นทุนของการผลิตแอสตาแซนธินในระดับอุตสาหกรรม โดยแหล่งของแอสตาแซนธินที่ใช้ในการศึกษาคือ H. pluvialis ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดสีเขียวขนาดเล็ก สามารถสังเคราะห์แสงได้ มีคุณลักษณะเฉพาะ คือ สามารถผลิตและสะสมแอสตาแซนธินภายในเซลล์ในปริมาณมากภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม (Boussiba, 2000) โดยมีคณะผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ดร. พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา หลักสูตรวิศวกรรมเคมี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร รองศาสตราจารย์ ดร. วรรณา ชูฤทธิ์ และ ดร. วลัยลักษณ์ พัฒนมณี หลักสูตรไบโอเทคโนโลยี สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร

อนึ่ง แอสตาแซนธิน (Astaxanthin) (Lorenz, 1999) เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) สีแดงเข้ม มีประสิทธิภาพสูงในการต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) จึงได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย และถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเภสัชโภชนศาสตร์ และเวชสำอางค์ นอกจากนี้แอสตาแซนธินยังมีคุณประโยชน์ทางด้านการแพทย์ สามารถใช้เป็นสารอาหารบำรุงสายตา หัวใจ รักษาอาการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ตลอดจนลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง (Guerin, Huntley and Olaizola, 2003) ทั้งนี้ แอสตาแซนธินที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมดได้นำเข้าจากต่างประเทศ และจากข้อกำหนดการใช้แอสตาแซนธินกับคน ต้องมีกรรมวิธีการผลิตสารด้วยวิธีทางชีวภาพเท่านั้น

ผู้สนใจต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยหรือทุนการศึกษาเพื่อทำงานวิจัยร่วมกับคณะทำงาน ติดต่อได้ที่ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โทรศัพท์ 075-672-387 หรือ อีเมล์ pongsathorn.dechatiwongse@gmail.com