Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จัดประชุมวิชาการเทคนิคการแพทย์วลัยลักษณ์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558

อัพเดท : 11/01/2559

3620

 




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ คณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเทคนิคการแพทย์วลัยลักษณ์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ภายใต้ชื่อโครงการ “Non Communicable Disease (NCD) ในบริบททางเทคนิคการแพทย์” เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องอรพินท์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายหน่วยงาน อาทิ นักเทคนิคการแพทย์ อาจารย์พิเศษทางคลินิก ผู้สนใจ ผู้สนับสนุนการจัดงาน ตัวแทนบริษัทขายน้ำยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ศิษย์เก่าเทคนิคการแพทย์และคณาจารย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กว่า 100 คน

สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการประชุมวิชาการเทคนิคการแพทย์วลัยลักษณ์ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 เพื่อเผยแพร่และนำเสนอองค์ความรู้ด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบวิชาชีพแก่นักเทคนิคการแพทย์ โดยเฉพาะในเขตภาคใต้ โดยมี รองศาสตราจารย์ พญ. จิราพร สิทธิถาวร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.วิไลรัตน์ นุชประมูล ที่ปรึกษาผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุชจรี จีนด้วง สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นวิทยากร



NCD หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยที่นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาที่เกิดจากความเจ็บป่วยสูงมากนับพันล้านบาทต่อปี หลายภาคส่วนต่างตระหนักถึงความสำคัญของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งนี้ ในส่วนวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพื่อการค้นหาผู้ป่วย ติดตามประเมินผลการรักษา และควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ร่วมกับสาขาวิชาชีพทางการแพทย์สาขาอื่นๆ ดังนั้น การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งในแง่ของนโยบายและบทบาทของวิชาชีพสุขภาพ สถานการณ์ปัจจุบัน แนวทางการตรวจวินิจฉัย การสร้างงานวิจัยจากงานประจำ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ต่อไป