Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ : รางวัลผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย เรื่อง “แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืน”

31/03/2559

6536



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ อาจารย์สำนักวิชาการจัดการ และหัวหน้าหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับโล่เกียรติยศจาก พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี จากผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย ประจำปี 2558 กับผลงานวิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมว่า เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ เนื่องจากเป็นพุน้ำร้อนเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีลักษณะเฉพาะ โดยเป็นพุน้ำร้อนเค็มที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ส่วนสาเหตุที่มีรสชาติเค็มนั้นเกิดจากการผสมกันของน้ำร้อนและน้ำทะเลในระดับลึกก่อนโพล่พ้นพื้นดิน เกิดเป็นน้ำพุร้อน ซึ่งจัดอยู่ในประเภทน้ำพุร้อนเกลือ (salt spring) ซึ่งมีปริมาณของเกลือผสมอยู่มากกว่า 9 กรัม/ลิตร ความมหัศจรรย์ของบ่อน้ำพุร้อนเค็มนั้นอยู่ที่อุณหภูมิของน้ำในบ่อไม่ร้อนมากจนเกินไป ประมาณ 40-47 องศาเซลเซียส นักท่องเที่ยวรวมทั้งคนในพื้นที่ต่างนิยมที่จะมาแช่น้ำที่นี่ เพราะมีความเชื่อว่าสามารถรักษาโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคปวดเมื่อยตามข้อกระดูก โรคไหลเวียนโลหิต โรคผดผื่นคัน เป็นต้น ทำให้พุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ใน โครงการวิจัย การประเมินศักยภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยในปี พ.ศ. 2555

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ เล่าต่อว่า พุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมมีระบบนิเวศและลักษณะทางธรณีวิทยาที่เปราะบาง ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงหากการพัฒนาไม่ได้อยู่บนพื้นฐานวิชาการ ด้วยเหตุนี้ หน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน จึงได้ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ และองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยน้ำขาว ในฐานะเจ้าของพื้นที่ พัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งผลการวิจัยพบว่า จำเป็นต้องใช้การบูรณาการองค์ความรู้ด้านธรณีฟิสิกส์กับงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ เช่น การจัดการและบริหารธุรกิจ และการวางแผนพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มให้มีความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น

ในการดำเนินงานวิจัยแบบบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ เล่าว่า ได้มีการแบ่งการทำวิจัยออกเป็นโครงการย่อย 3 โครงการ

โครงการย่อยที่ 1 ดำเนินการสำรวจฐานทรัพยากรของพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม สำรวจทิศทางการไหลของธารน้ำร้อน คุณภาพน้ำและดินด้วยวิธีธรณีฟิสิกส์ รวมทั้งดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำและดินเพื่อวิเคราะห์คุณภาพและคุณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

โครงการย่อยที่ 2 ศึกษาความต้องการและความพร้อมของชุมชนท้องถิ่นต่อการจัดการการท่องเที่ยว การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตลอดจนความคุ้มค่าในการพัฒนา โดยใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม และการประชุมกลุ่มย่อยกับชุมชนตำบลห้วยน้ำขาว

โครงการย่อยที่ 3 ศึกษาความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ และแหล่งท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม โดยใช้แบบสอบถาม รวมทั้งการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อวางแผนด้านการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้เสียทางการท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม ก่อนที่จะนำข้อมูลไปสังเคราะห์เพื่อกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และแนวความคิดในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว

ผลการวิจัยพบว่า พุน้ำร้อนบริเวณนี้เกิดจากแหล่งน้ำเดียวกันทั้งหมดและมีปริมาณที่จำกัด โดยพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อมมีต้นกำเนิดแตกต่างจากน้ำพุร้อนอื่น ๆ ในจังหวัดกระบี่ ด้วยลักษณะทางธรณีวิทยาที่มีความเปราะบาง หากมีการพัฒนาสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่หรือมีการขุดเจาะจะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวอย่างแน่นอน ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การพัฒนาจึงควรเน้นการใช้ประโยชน์อาคารที่มีให้เต็มศักยภาพ เช่น อาคารนวดแผนโบราณ อาคารห้องน้ำบริเวณที่จอดรถ รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวโดยใช้การออกแบบภูมิทัศน์และการจัดการระบบการไหลเวียนให้สอดคล้องกับกิจกรรมและวัฒนธรรมการแช่น้ำแร่

ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความจำเป็นเร่งด่วน คือระบบการบำบัดน้ำเสีย และการปรับปรุงภูมิทัศน์ ทั้งนี้ชุมชนตำบลห้วยน้ำขาวมีความต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ความคุ้มทุนที่พบว่า การบริหารจัดการโดยภาครัฐที่มีชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมจะก่อให้เกิดผลตอบแทนต่อชุมชนมากกว่าการจัดสรรสัมปทานให้กับเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ ได้เล่าถึงแผนงานวิจัยนี้ว่า ได้นำเสนอแบบร่างการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระบบสื่อความหมายทางธรรมชาติ และการจัดขอบเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน จากข้อมูลดังกล่าวนั้นสามารถนำเสนอแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม การจัดทำพื้นที่กันชน การประกาศเป็นพื้นที่พิเศษที่มีกฎหมายในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ การดูแลรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมบอกถึงแนวทางการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนว่า โดยภาพรวมจะแบ่งการจัดการเป็นสองระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (1ปี) และระยะกลาง (2 - 5 ปี) รวมทั้งการจัดการพื้นที่ให้บริการภายใต้หลักศาสนาอิสลามเพื่อนำไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป อาทิ การชำระร่างกายก่อน เป็นต้น

จากผลงานวิจัยนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปจัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาเมืองสปาต้นแบบ อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และนำไปเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและการจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งนำแผนแม่บทฯ ไปของบประมาณจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า งานวิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืน” นี้ มีการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านธรณีฟิสิกส์กับศาสตร์ทางด้านบริหารธุรกิจ การจัดการและการท่องเที่ยว เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและแนวทางอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาการท่องเที่ยวพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืนและสามารถกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่น มีผลทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2558



สมพร อิสรไกรศีล เรียบเรียง