Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ผู้บริหารม.วลัยลักษณ์แจงกรณีตัดต้นประดู่ที่ยืนต้นตาย

อัพเดท : 31/03/2559

5484


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย ในฐานะรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีตัดต้นประดู่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่า ต้องขอขอบคุณประชาคมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ตลอดจนศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันทุกคนที่ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องการตัดต้นประดู่ ทั้งนี้ขอยอมรับและขออภัยในความผิดพลาดในการตัดต้นประดู่ครั้งนี้ที่ไม่ได้มีการชี้แจงให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วกันก่อน แต่ขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับต้นประดู่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันแห่งนี้ โดยสาเหตุหลักของการตัดในครั้งนี้เกิดขึ้นจากต้นประดู่ดังกล่าวปลูกชิดแนวถนนและยืนต้นตายจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการสัญจรไปมาของนักศึกษาและผู้คนทั่วไปจึงจำเป็นต้องตัด โดยมหาวิทยาลัยมีแผนในการปลูกต้นไม้และปรับปรุงภูมิทัศน์ในบริเวณของมหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 เป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยครบ 24 ปี คณะผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษาได้ร่วมกันปลูกต้นประดู่จำนวน 300 ต้น เพื่อปลูกทดแทนต้นที่ตายไปด้วย

 


“ขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญกับต้นไม้ โดยเฉพาะต้นประดู่ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามต้นที่ตายไปจะต้องปลูกต้นประดู่ใหม่ทดแทนอย่างแน่นอน และหลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อดูแลในเรื่องต้นไม้ของมหาวิทยาลัย โดยจะเชิญบุคคลทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมาร่วมกันวางแผนในระยะยาวอีกด้วย”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ม.วลัยลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคพืช บอกว่า การยืนต้นตายของต้นประดู่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ไม่เฉพาะในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สาเหตุเกิดจากศัตรูพืช 2 ชนิด คือ มอดรูเข็ม และด้วงหนวดยาวประดู่ โดยตัวการสำคัญเกิดขึ้นจากด้วงหนวดยาวประดู่ ที่มีลำตัวขนาด 3-5 เซนติเมตร มีวงจรชีวิตนานถึง 8 เดือน ด้วงชนิดนี้จะทำการวางไข่กระจายทั่วทั้งลำต้นของต้นประดู่ และมีการฟักเป็นตัวก็จะทำการเจาะลำต้นของประดู่ จนระบบการลำเลียงอาหารถูกตัดขาด ส่งผลให้กิ่งก้านเริ่มตายก่อน หลังจากนั้นก็จะมีการยืนต้นตายอย่างที่เห็น

อย่างไรก็ตามจากปัญหาดังกล่าวทางสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร จะมีการวางแผนเพื่อทำการศึกษาหาแนวทางป้องกันและแก้ไข ให้ต้นประดู่ที่จะปลูกใหม่ให้อยู่อย่างยั่งยืนและเคียงคู่กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ตลอดจนเพื่อเป็นความรู้นำไปถ่ายทอดให้กับพื้นที่ปลูกประดู่อื่นๆต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา กล่าวในตอนท้าย