Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

รับฟังความคิดเห็นประชาคม สร้างถนนเข้าศูนย์การแพทย์

อัพเดท : 23/05/2559

3901



เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.00 -12.30 น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดเวทีประชาคม รับฟังประชามติ สำรวจความคิดเห็นเรื่องการสร้างถนนสู่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ ห้องโมคลาน อาคารบริหาร

ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวขอบคุณประชาคมท่าศาลา นักศึกษา ศิษย์เก่า พนักงาน และประชาชนผู้สนใจจากทุกภาคส่วน ที่มีความรักห่วงใยและปรารถนาดีต่อมหาวิทยาลัย และย้ำกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแผนดำเนินการก่อสร้างถนน และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่แนวทางที่สร้างสรรค์ มีความเข้าใจร่วมและเป็นทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน บนฐานคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยเป็นของทุกคน อีกทั้งดำเนินตามมติที่ประชุมบริหารเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 ต่อจากนั้น พล.ต.ศรีศักดิ์ เลิศล้ำ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายอาคารสถานที่ ได้ชี้แจงแผนการดำเนินงานการสร้งถนนนเข้าศูนย์การแพทย์ ซึ่งเป็นแผนที่บริษัทควบคุมงานนำเสนอ ผู้เข้าร่วม นักศึกษาตัวแทนศิษย์เก่า เจ้าหน้าที่ คณาจารย์ เครือข่ายกลุ่มรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา นำโดย อาจารย์วิชาญ เชาวลิต และประธานสภาวัฒนธรรมท่าศาลา อ.บุญเสริม แก้วพรหม นพ.รังสิต ทองสมัคร์ นายกอบต.โพธิ์ทอง ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้าน ตัวแทนศิษย์เก่า และผู้สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

สรุปผลการหารือและมติประชุม ดังนี้

1.การแก้ปัญหาการสร้างถนนเข้าสู่ศูนย์การแพทย์ ควรจะเป็นโมเดลร่วม ที่จะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาลักษณะนี้ในพื้นที่อื่นๆด้วย ในฐานะของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นหลักในถิ่น

2.การบริหารจัดการที่เรียกว่าพัฒนาควรจะให้ความสำคัญกับต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว และปรับใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด มองในทุกมิติ ทั้งทุนเศรษฐกิจ วิถีชีวิตจิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยในครั้งนีก็เช่นกัน การสร้างถนนที่ไม่ต้องมีการตัดโค่นหรือล้อมย้ายต้นยางนา ซึ่งเป็นไม้คุ้มครองหรือไม้อนุรักษ์ฯและมีประวัติการปลูกตามผังแม่บท และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ

3.เสียงส่วนใหญ่ของผู้เข้าร่วมประชุมขอให้ศึกษาแนงทางถนนสายใหม่คู่ขนานกับสายเดิม ที่พยามใช้พื้นที่อื่น โดยไม่ต้องล้อมย้ายยางนา เพราะถือว่าเป็นการย้ายป่า และไม่มีความเชื่อมั่น ว่าจะสร้างใหม่หรือรักษาใว้ให้รอดได้ตามเดิม หากจะล้อมก็ควรทำการศึกษาทดลองให้เกิดความมั่นใจได้ว่าต้นยางจะต้องไม่ตายหรือเสียหายน้อยที่สุด

4.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ควรวางแผนเส้นทางถนน การจราจรในภาพรวมตามผังการพัฒนามหาวิทยาลัยและจังหวัด การแก้ปัญหาถนนควรมองการขยายตัวในอนาคตและเส้นทางอื่นๆด้วย เช่น เส้นทางเข้ามหาวิทยาลัยจด ถนน401, ทางบ้านบนถนน อบต.โพธิ์ทอง

5.ขอให้ผู้รับผิดชอบนำเสนอผลการประชุมในครั้งนี้ เข้าที่ประชุมบริหาร คณะกก.ศูนย์แพทย์ และแจ้งข่าวต่อประชาคมทราบด้วย



ในช่วงท้าย ดร.เลิศชาย ได้กล่าวจึงความตั้งใจที่จะนำพามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นมหาวิทยาลัยที่อยูร่วมกับป่า และย้ำผู้บริหารยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย เชื่อมั่นว่าเราจะมีทางออกร่วมกันที่ดีที่สุด เป็นประโยชน์ร่วมตามเจตนารมย์คือมหาวิทยาลัยมีศูนย์การแพทย์ให้บริการพ่อแม่พี่น้องประชาชน มีถนนทางเข้าตามมาตราฐาน และป่ายางนาแปลงนี้คงอยู่ตามเดิม