Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

อ.ดร.นิรัติศัย รักมาก : ศูนย์การเรียนรู้กระบวนการสกัดเย็นในการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์

01/06/2559

9881

อาจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กระบวนการสกัดเย็นในการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สู่การใช้งานจริงในชุมชน เพื่อสร้างต้นทุนทางปัญญาและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยในกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ให้ประสิทธิภาพสูงกว่าแบบดั้งเดิม 50%

อาจารย์ ดร.นิรัติศัย เล่าว่า มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกทุกภาคทั่วประเทศ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 128,853 ไร่ ผลผลิต 161,014 ตันต่อปี ทั้งนี้ พื้นที่อำเภอท่าศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยลักษณ์ ก็เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวมากเช่นกัน ดังนั้นในภาวะที่มะพร้าวล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ ชาวบ้านได้แปรรูปมะพร้าวเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ซึ่งน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นช่วยป้องกันโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ช่วยลดอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวพรรณดี ไม่เหี่ยวย่นแก่ก่อนวัย นอกจากนี้ในน้ำมันมะพร้าวยังประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญกับร่างกาย เช่น กรดลอริก ซึ่งเป็นกรดชนิดเดียวกันกับกรดในน้ำนมของมารดา ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กแรกเกิด และกรดนี้ยังใช้เป็นยาฆ่าเชื้อได้ดีกว่ายาปฏิชีวนะ แต่กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมที่ชาวบ้านใช้ ให้ปริมาณน้ำมันสกัดเย็นน้อยและมีคุณภาพต่ำ ที่สำคัญใช้เวลาในการผลิตนาน

อาจารย์ ดร.นิรัติศัย ได้เล่าให้ฟังต่อว่า ด้วยตระหนักถึงปัญหาการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นของชาวบ้าน จึงได้ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาจนได้กระบวนการสกัดเย็นที่ไม่ใช้สารเคมีและมีความเหมาะสมต่อการผลิต โดยการนำครีม (หัวกะทิ) ที่ได้จากการเหวี่ยงแยกมาสกัดที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการสกัดลงถึง 10 ชั่วโมง ซึ่งกระบวนการนี้ให้ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นสูงกว่าแบบดั้งเดิม 50% และสามารถแยกชั้นน้ำและตะกอนออกจากน้ำมันได้อย่างสมบูรณ์ น้ำมันที่ได้มีความเสถียรสูง ปริมาณความชื้นต่ำมาก ลดการเกิดปฏิกิริยาไฮโดรลิซิสและปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้น้ำมันมะพร้าวที่สกัดได้ปราศจากกลิ่นเหม็นหืนและเหม็นเปรี้ยว เป็นการเพิ่มมูลค่าของมะพร้าวและสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ขณะเดียวกัน ได้สร้าง “ศูนย์การเรียนรู้กระบวนการสกัดเย็นในการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สู่การใช้งานจริงในชุมชน” ที่ชุมชนบ้านในไร่ หมู่ 11 ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายสมศักดิ์ สลาม เป็นผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ เพื่อสร้างต้นทุนทางปัญญาให้กับชาวบ้านจนสามารถเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป ทั้งยังเป็นการบูรณาการระหว่างงานวิจัย งานบริการวิชาการ และงานพัฒนาการเรียนการสอนกับหน่วยงานภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกด้วย

ในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กระบวนการสกัดเย็นในการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สู่การใช้งานจริงในชุมชน อาจารย์ ดร.นิรัติศัย เล่าว่า คณะผู้วิจัยได้สำรวจข้อมูลสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนบ้านในไร่ พบว่า คนในชุมชนผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในระดับครัวเรือนแบบดั้งเดิม ซึ่งมีระดับการผลิตขนาดเล็ก ต้นทุนด้านอุปกรณ์การผลิตต่ำ ปริมาณของผลผลิตต่ำ คุณภาพน้ำมันที่ได้ค่อนข้างหนืด มีกลิ่นเหม็นหืน และมีโอกาสปนเปื้อนสูง ทำให้การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอทำได้ยาก จึงได้ถ่ายทอดความรู้ด้านกระบวนการสกัดเย็นในการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ ซึ่งถือเป็นการบริการวิชาการแก่ชุมชน ที่ต่อยอดจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาของสาขาวิศวกรรมเคมี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

“หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 28 คน ได้มีการติดตามความสำเร็จและประเมินผลโครงการ พบว่า หลังได้รับความรู้จากการบรรยายและการปฏิบัติ ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้เพิ่มขึ้น สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ครอบครัว” อาจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก กล่าวในตอนท้าย

สมพร อิสรไกรศีล
ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง