Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ม.วลัยลักษณ์ : สถานการณ์ไข้เลือดออกเนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน

14/06/2559

5065

เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียน วันที่ 15 มิถุนายน 2559 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “Community Empowerment a Sustainable Success to Fight Dengue ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ซึ่งมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้จัดกิจกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นรูปธรรมของนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งเป็นดำเนินการของเครือข่ายวลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก

รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก และอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกพบมากกว่า 100 ประเทศทั่วเขตโซนร้อนและกึ่งโซนร้อนของโลก โดยในแต่ละปีจะพบผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกี จำนวน 50-100 ล้านราย และเสียชีวิตประมาณ 22,000 คน โดยประเทศสมาชิก ASEAN ทั้ง 10 ประเทศมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 และมีการระบาดอย่างต่อเนื่องแบบปีเว้นปีหรือปีเว้นสองปี โดยมีการระบาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2530 และ 2556

ปัจจุบันสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่สูง แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยต่ำกว่าปี พ.ศ. 2558 แต่มีการประมาณการว่า จะมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการป่วยที่สูงขึ้นเนื่องจากมีปัจจัยสาเหตุที่เกี่ยวข้องจากพฤติกรรมของคน และสภาพแวดล้อม

ตารางที่ 1 อัตราป่วยและอัตราป่วยตายโรคไข้เลือดออกภาพรวมของประเทศไทย พ.ศ. 2559


รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย กล่าวต่อว่า ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีอัตราการป่วยของไข้เลือดออกอยู่ในอันดับต้นๆ ของภาคใต้ โดยมีการระบาดแบบปีเว้นปี ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคมาตลอด แต่อัตราการป่วยก็ยังคงสูงอยู่

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดต่างๆของประเทศไทยมาอยู่รวมกันเฉลี่ย 6,530 คนต่อปีการศึกษา (ส่วนกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2558) การพักรวมกันในหอพักแต่ละหอ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังในช่วงฝนตก และที่สำคัญคือความเข้าใจต่อความรุนแรงและความตระหนักต่อการป้องกันโรคไข้เลือดออก พบว่า อัตราการป่วยของโรคไข้เลือดออกของนักศึกษาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วง 5 ปีย้อนหลังซึ่งคำนวณจากนักศึกษาทั้งหมดเฉลี่ยในแต่ละปี มีอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ปี พ.ศ. 2554, 2555, 2556, 2557, 2558, และ มกราคม ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2559 มีอัตราการป่วยเท่ากับ 130, 145, 84, 69, 51, และ 30 รายต่อแสนประชากร (โรงพยาบาลท่าศาลา, 2558)

กราฟที่ 1 อัตราป่วยโรคไข้เลือดออกของนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2554-2559


ดังนั้น เครือข่ายวลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วย ส่วนกิจการนักศึกษา หน่วนวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ชมรมวลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก งานหอพัก งานรักษาพยาบาล สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลท่าศาลา และนักศึกษาทุกสำนักวิชา ได้จัดกิจกรรมเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กิจกรรมที่สำคัญในวันแม่แห่งชาติของแต่ละปี เป็นต้น



วันที่ 15 มิถุนายน 2559 วันไข้เลือดออกอาเซียน เป็นวันที่มีความสำคัญ เป็นการสร้างความตระหนักต่อการป้องกันไข้เลือดออกของประเทศไทยอีกวันหนึ่ง ซึ่งมีประเด็นของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก “Community Empowerment a Sustainable Success to Fight Dengue ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยไข้เลือดออก” ทั้งนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินการในการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีความร่วมมือของทุกฝ่ายมาตลอด สอดคล้องกับประเด็นดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง หัวหน้าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก และอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวในตอนท้าย



สมพร อิสรไกรศีล

ส่วนประชาสัมพันธ์ เรียบเรียง