Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ พบปะประชาคมวลัยลักษณ์ “ก้าวไปด้วยกัน สรรสร้างวลัยลักษณ์”

อัพเดท : 06/07/2559

6155

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบปะประชาคมวลัยลักษณ์ “ก้าวไปด้วยกัน สรรสร้างวลัยลักษณ์” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่ง โดยได้กล่าวถึงแนวทางการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตามยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นความท้าทาย โดยจะนำประสบการณ์ทั้งหมดที่มีมาใช้ให้เต็มที่เพื่อชาววลัยลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากประชาคมวลัยลักษณ์ให้ร่วมแรงร่วมใจและสามัคคี เพื่อไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ให้ความสนใจในการทำงาน คือ ความเป็นคนดี และเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ซึ่งในการทำงานจะใช้ 4 แนวทาง คือ จะไม่มีพวก นอกจากพวกเราชาวมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การจัดสรรผลประโยชน์ที่พึงได้ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และบริหารงานแบบ participate management โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

จากปณิธาน “ผลิตบัณฑิตให้เป็นคนดีและคนเก่ง” วิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นองค์กรธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล” และอัตลักษณ์ “บัณฑิตมีความรู้คู่การปฏิบัติ อุตสาหะสู้ เก่งด้านศิลปศาสตร์และเทคโนโลยี มีคุณธรรม” นำไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยใน 11 ประเด็น เริ่มจากยุทธศาสตร์การเร่งรัดแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมหาวิทยาลัย โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างความจำเป็นพื้นฐาน เร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ ซึ่งน่าจะเสร็จตามสัญญาการก่อสร้าง แต่ครุภัณฑ์ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยต้องการ การพัฒนาภูมิทัศน์ โดยต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม อาจจะทำเหมือนเป็นรีสอร์ท ให้มีความสวยงาม ดึงดูดใจผู้มาเยี่ยมเยือนเหมือนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เร่งรัดการซ่อมบำรุงอาคารสถานที่ และเสริมสร้างพลังสามัคคีของบุคลากร เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้ประสบความสำเร็จ สามารถดึงดูดคนเก่งให้มาทำงานและนักเรียนเก่งมาเรียนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้


ยุทธศาสตร์การสร้างบัณฑิตให้เป็นคนดีคนเก่ง โดยการสอนนักศึกษาให้เป็น “คนดี” มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีวินัยและกตัญญู การสอนให้นักศึกษาเป็น “คนเก่ง” โดยยึดมาตรฐานวิชาชีพเป็นหลัก แต่หากหลักสูตรใดไม่มีเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพก็ต้องสร้างเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อวัดความสามารถ เช่น ด้านภาษา ขณะเดียวกัน ก็ใช้การเรียนการสอนแบบ Project Based Learning, Problem Based Learning, Active Learning และ Cooperative Education ซึ่งในหลายหลักสูตรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มีการเรียนการสอนในหลากหลายลักษณะตามความเหมาะสม

ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยจัดตั้งสภาวิจัยของคณาจารย์ จัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็มีอยู่หลายศูนย์ แต่ยังคงต้องดำเนินการเพิ่มเติม จัดทำข้อเสนอการวิจัยเพื่อของบประมาณแผ่นดิน การจัดประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น จัดประกวดวิทยานิพนธ์ทั้งระดับปริญญาโทและเอก เพื่อเป็นการกระตุ้นนักศึกษาให้ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ จัดทำวารสารวิชาการ online ให้สามารถเผยแพร่ได้รวดเร็วขึ้น และส่งเสริมการให้บริการแก่สังคม

ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยปฏิรูปหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ปฏิรูประบบการเรียนการสอนให้บัณฑิตเป็นนักคิดที่เป็นทั้งคนดีและเก่ง มี Excellent Facilities เช่น ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการต่างๆ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพบัณฑิตทุกสาขาวิชา โดยจะทำให้สำเร็จเป็นแห่งแรก การขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยเฉพาะสถานประกอบการ ส่งเสริมความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ไทย และการใช้ระบบ IT โดยการประเมินนักศึกษา และมีการสอนเสริมกรณีที่ความสามารถต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สร้างกลไกดึงดูดให้นักเรียนเก่งเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้มากที่สุด ส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าแข่งขันทางวิชาการ ส่งเสริมบรรยากาศการศึกษานานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมกีฬาเพื่อพัฒนาสปิริตและสุขภาพนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

ยุทธศาสตร์การทำนุบำรุงและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ ส่งเสริมและพัฒนานาฏศิลป์ของภาคใต้ และจัดหลักสูตรการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมอาเซียนในระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อทำงานวิจัยทางด้านนี้ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างให้เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการของเสียและขยะ ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว การจัดการน้ำให้มีประโยชน์สูงสุด การจัดการจราจรภายในมหาวิทยาลัย และการให้การศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจัดเป็นวิชาเสริม ซึ่งนักศึกษาทุกคนต้องเรียน หากดำเนินการดังกล่าวลุล่วงแล้วจะส่งเข้าประกวดในโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว

ยุทธศาสตร์การวางรากฐานในการพัฒนาให้เป็น World Class University โดยอาจารย์ต้องมีความสามารถ งานวิจัยมีความโดดเด่น การสอนต้องมีคุณภาพ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล มีกระบวนการคัดเลือกคนเก่ง นักวิชาการมีเสรีภาพ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีห้องสมุดและห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่มีคุณภาพ และต้องมีนักศึกษาต่างชาติ ประมาณ 5% ของจำนวนนักศึกษาที่มีทั้งหมด ยุทธศาสตร์การวางรากฐานในการสร้างเมืองมหาวิทยาลัย โดยเสริมสร้างบรรยากาศเมืองมหาวิทยาลัย ใช้นโยบายหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชนในการพัฒนา รวมทั้งร่วมมือและส่งเสริมชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยในการร่วมพัฒนา

ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กล่าวข้างต้น จำเป็นจะต้องมีแนวทางจัดหาทุนหรือทรัพยากรของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การจัดหาทุนหรือทรัพยากรในการพัฒนามหาวิทยาลัย เช่น จัดทำโครงการและแผนการพัฒนามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศในการของบแผ่นดิน พิจารณาค่าธรรมเนียมการศึกษาให้เหมาะสมกับแต่ละสาขาวิชา แสวงหาทุนวิจัยทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ หารายได้จากลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย รับบริจาคจากภาคเอกชนหรือองค์การที่สนับสนุนการศึกษา และจัดทำโครงการพัฒนาทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก

ในส่วนของแนวทางการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยการพัฒนานักวิชาการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ส่งเสริมให้คณาจารย์ศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้ตามแผน ส่งเสริมให้คณาจารย์พัฒนาตำแหน่งทางวิชาการและ/หรือเข้ารับการอบรม และปรับปรุงการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนาบุคลากรสายปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารงานทั่วไปให้เป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีสมรรถนะสูง โดยส่งเสริมให้ศึกษาต่อตามความต้องการของหน่วยงานและ/หรือให้ได้รับการอบรมทั้งสายบริหารและสายปฏิบัติการ และส่งเสริมการพัฒนาความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ทุกระดับ สุดท้ายยุทธศาสตร์การเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารให้เป็น High Performance Organisation (HPO) โดยพัฒนาการใช้ระบบ IT เพื่อการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ปรับปรุงการใช้งบลงทุนไม่ให้ค้างท่อ พัฒนากลไกการประกันคุณภาพให้มีผลสัมฤทธิ์ในระดับนำ ส่งเสริมระบบการตรวจสอบภายในให้เป็นกลไกในการสร้าง “ธรรมรัฐ” ปรับปรุงข้อบังคับฯการบริหารงานบุคคล และส่งเสริมสำนักวิชาให้มีความเป็นอิสระและเป็นผู้นำในทางวิชาการ

“ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะไม่สามารถดำเนินการได้ จำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือและร่วมมือจากทุกคน เพื่อไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทาย ผมจะนำประสบการณ์ที่มี ทำให้เต็มที่เพื่อชาววลัยลักษณ์ ขอให้ทุกคนมีความสุขและมีความภาคภูมิใจในการทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวในตอนท้าย

อนึ่ง ในช่วงแรก คณะผู้บริหารชุดปี 2557 ภายใต้การนำของ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการแทนอธิการบดี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลา ตันตโยทัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาและงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการ พร้อมมอบช่อดอกไม้ให้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ได้มอบของที่ระลึกให้แก่คณะผู้บริหารชุดปี 2557 เพื่อแสดงความขอบคุณในการบริหารให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤต


สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
ธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพ