Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ เปิดเวทีวลัยลักษณ์วิจัยครั้งที่ 8 ชูแนวคิด Research for Well-being

07/07/2559

3812

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดประชุมวลัยลักษณ์วิจัย ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด Research for Well-being การวิจัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีนักวิชาการ นักวิจัย จาก 50 สถาบันทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 250 บทความ โดยได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องประชุม 4 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม



รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เครือข่ายการวิจัย สกอ.ภาคใต้ตอนบน และหน่วยประสานงานสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช. ภูมิภาคภาคใต้) จัดประชุมวิชาการระดับชาติ “วลัยลักษณ์วิจัย” ครั้งที่ 8 หัวข้อ Research for Well-being การวิจัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2559 ณ อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเป็นเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและวิชาการให้กับคณาจารย์ บุคลากร นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาและผู้สนใจ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำวิจัยร่วมกัน โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการนำเสนอแบบบรรยายและโปสเตอร์ รวมกว่า 250 บทความ จาก 50 หน่วยงานและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.เลิศชาย ศิริชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.ประพันธ์ ภานุภาค คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล บรรยายพิเศษเปิดการประชุม ในหัวข้อ “ เอดส์ : จากการวิจัยสู่ชุมชน” รองศาสตราจารย์ ดร.อุษา เล็กอุทัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายหัวข้อ "งานวิจัยและพัฒนาเพื่อป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรีย" การบรรยายจากบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีผลงานวิจัยเด่นจำนวน 2 คน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.จรวย สุวรรณบำรุง บรรยายหัวข้อ “รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน : วิจัยเชิงพื้นที่และรับใช้สังคม” และ อาจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ บรรยายหัวข้อ “การวิจัยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคใต้”

การประชุมวิชาการดังกล่าวยังได้ผนวกกิจกรรมสัมมนาวิชาการ รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน : วิจัยเชิงพื้นที่และรับใช้สังคม การสัมมนาเรื่อง Learning and Teaching Development for Community Engagement การประชุมคณะกรรมการเครือข่ายการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก สกอ. ภาคใต้ตอนบน และเวทีนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยของนักศึกษาผู้รับทุนอุดหนุนโครงการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการผลงานวิจัยของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากศูนย์หนังสือ และฟาร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นอกจากนี้ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ยังร่วมกันจัดประชุมวิชาการระดับชาติ “สหวิทยาการสุขภาพ” ครั้งที่ 1 หัวข้อ Smart and Healthy Life โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษในหัวข้อ "การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางสุขภาพของท้องถิ่นในศตวรรษที่ 21" และ ศาสตราจารย์ ดร.สร้อยสังวาลย์ สาตะรักษ์ บรรยายหัวข้อ "Heavy metal toxicity : Preventive and therapeutic strategies" ด้วย

“มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ ทั้งการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัยประยุกต์ การวิจัยสถาบัน รวมไปถึงการสนับสนุนงานวิชาการรับใช้สังคม โดยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงานวิจัยของคณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผลิตผลงานวิจัยงานสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคม รวมทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีประโยชน์สู่สาธารณะ เพื่อก่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงนโยบาย เชิงวิชาการ เชิงสาธารณะ เชิงสร้างสรรค์ เชิงพื้นที่ และเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นให้นักวิจัยสามารถคิดต่อยอดและเพิ่มมูลค่างานวิจัยได้” รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย


ข่าวและภาพโดยนายธ๊รพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์