Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

กล้อง CLSM : กล้องฟลูออเรสเซนต์สำหรับศึกษาสแกนภาพแบบ 3 มิติ ทางชีววิทยา

01/08/2559

11155


มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยโครงการจัดตั้งสถานวิจัยวิทยาการสุขภาพและศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยกล้อง CLSM (Confocal Laser Scanning Microscope) ยี่ห้อ LEICA รุ่น SP5 II หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า กล้องฟลูออเรสเซนต์สำหรับศึกษาสแกนภาพแบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นกล้องจุลทรรศน์แบบคอนโฟคอนชนิดที่ใช้เลเซอร์ในการสแกน สามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในการศึกษาทางชีววิทยา ตั้งแต่ชีววิทยาระดับเซลล์ ยีน หรือชีววิทยาระดับไมโครโมเลกุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับงานที่ต้องการภาพความละเอียดสูงและเก็บภาพเฉพาะบริเวณจุดโฟกัสโดยสามารถเลือกระดับความลึกของชั้นตัวอย่างที่ต้องการได้

กล้อง CLSM ให้ภาพที่มีความสว่างและความคมชัดสูง ให้ลำแสงที่มีความเข้มสม่ำเสมอ และสามารถเลือกปรับโฟกัสได้ง่าย เพิ่มความแตกต่างของสัญญาณฟลูออเรสเซนต์ ที่สำคัญลดการปนเปื้อนของแสงฟลูออเรสเซนต์จากพื้นหลังได้ ภาพที่ได้จึงมีคุณภาพความคมชัดสูง มีความจำเพาะและความไวในการจำแนกและรับสัญญาณแสงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมเสริม และยังสามารถสแกนได้ 3 สี พร้อมกัน ทั้งยังสามารถกำหนดค่าการสแกนภาพได้หลายรูปแบบ โดยมีคุณภาพความละเอียดของภาพสูงถึง 8,192 x 8,192 pixels

กล้อง CLSM มีแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ที่ให้ลักษณะสเปกตรัมของแสงที่แตกต่างกันเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับการใช้งานสีย้อมที่แตกต่างกัน โดยมี Laser excitation จำนวน 7 lines ได้แก่ 458, 476, 488, 496, 514, 543 และ 633 nm นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้งานในการศึกษาแบบ Thick specimen imaging, 2D imaging, 3D imaging, 3D time-lapse (4D) imaging, Multi-dyes immune-labeling imaging : Co-localization study และ Live cell imaging : Development study, Expression over time-lapsed study

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังให้บริการอื่นๆ อีก อาทิ การทดสอบด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ AAS, ICP-OES, GC, GC-MS, HPLC, IC, FTIR, NMR บริการเครื่องทำแห้งภายใต้ความเย็นและสุญญากาศ การทดสอบน้ำและน้ำเสีย อาหาร อาหารสัตว์ จุลินทรีย์ในน้ำ อาหาร และอาหารสัตว์ รวมทั้งจัดอบรม/สาธิต/การเรียนการสอนความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ผู้สนใจขอรับบริการต่างๆ สามารถติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โทรศัพท์ 0-7567-3225, 0-7567-3248-49 หรือ เว็บไซต์ http://cse.wu.ac.th