Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร บรรยายพิเศษ “การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา” ในงานประชุมวิชาการการเรียนรู้เชิงรุก

08/08/2559

2501



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี วศินานุกร อดีตคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บรรยายพิเศษ “การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Case-based Learning)” ในงานประชุมวิชาการการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning : Challenges and Innovations) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ ห้องอรพินท์ โรงแรมทวินโลตัส

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี เล่าว่า Case-based Learning เป็นส่วนหนึ่งที่เล็กมากของ Active Learning โดยเป็นประสบการณ์ที่เราพบเห็น ได้ยิน ได้ฟัง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพื่อนำมาสืบค้นต่อ เป็นการกระตุ้นสมองให้ทำงาน เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ เริ่มจากทำอย่างไรให้นักศึกษาใช้สมอง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปใช้ได้

เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี เล่าว่า ทักษะที่จำเป็นต้องมีในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 1) ความรู้ ในวิชาชีพของตนเอง 2) ความรู้ทั่วไป เช่น ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น 3) ความรู้สมัยใหม่ มีความจำเป็นต้องรู้ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมบางอย่าง เช่น การผลิตหุ่นยนต์ 4) ทักษะในการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม โดยการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สามารถแก้ปัญหา สื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมได้ 5) ทักษะการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัว ริเริ่ม กล้า อยากรู้อยากเห็น มีคุณธรรม จริยธรรม ทักษะทางสังคม สร้างผลงานให้ตัวเอง เป็นผู้นำและมีความรับผิดชอบ ซึ่งสามารถสร้างได้ขณะเป็นนักศึกษา 6) ต้องมีความรู้การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี เล่าต่อว่า Case-based Learning เป็นเคสที่มีสถานการณ์เจาะจง โดยตั้งเป้าไว้ว่าอยากให้เรียนอะไร แต่ต้องมีความซับซ้อนเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ หาคำตอบร่วมกัน คำตอบที่ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบเดียว โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้เรียนร่วมมือและประสานงานร่วมกัน เกิดเป็น Active Learning ในช่วงนี้ สิ่งที่ได้มีกระบวนการอยู่ในสมองและเอาไปใช้งานได้ ซึ่งสิ่งที่ทำนั้นได้อะไรบ้าง

บทบาทของผู้เรียน เชื่อมโยงเรื่องราวในสถานการณ์ปัจจุบันได้ นำความรู้และหลักการมาใช้ในการอภิปราย ต้องชี้ประเด็น ตั้งคำถาม มีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งต้องมีหลายวิธีและมีคำตอบที่น่าเป็นไปได้ออกมา การทำงานเป็นกลุ่มอาจไม่เห็นด้วยในคำตอบแต่ต้องมีการประนีประนอม ในส่วนของบทบาทครู เป็น Facilitator คอยกระตุ้นผู้เรียน ค้นหา case ให้ข้อมูล เพื่อให้พิจารณาตัดสินใจเองว่าจะทำอะไร

ชนิดของ case ประกอบด้วย 1) Extensive, detailed case เป็น case ที่มีเนื้อหามาก มีรายละเอียด ใช้เวลานานในการเรียนรู้ อาจเป็นสัปดาห์ 2) Descriptive, narrator case บาง case อาจจบภายในครั้งสองครั้ง ให้ทยอยเรียน ให้คิดและวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบ 3) Mini case เป็น case เล็ก เอา concept ไปสู่การปฏิบัติ เป็นการเรียนในชั้นเรียนเพียงครั้งเดียว 4) Bullet case มีเพียง 2-3 ประโยค และเรียนเพียงเรื่องเดียว 5) Directed case มีการชี้แนะของผู้สอน มีเนื้อหาและเจาะจงคำถามในการหาคำตอบ 6) Fixed case คล้าย Mini case และ Bullet case แต่ให้เลือกคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว จาก 4-5 คำตอบ ที่ให้

การจัด Case-based Learning อาจเป็นห้องเรียนใหญ่ ห้องเรียนกลุ่มย่อย ห้องเรียน online ก็ได้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี ได้ยกตัวอย่างของ Case-based Learning ที่คุณหมอได้สอนนักศึกษาแพทย์ขณะที่เป็นคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาทิ การใช้น้ำเกลือ โดยใช้ Directed case เริ่มด้วย Lesson plan จากนั้นให้นักศึกษาเตรียมงานก่อนเข้าชั้นเรียนและนำมานำเสนอในชั้น อาจารย์ wrap up จบด้วยการประเมินโดยกลุ่ม และมี modify essay question เพื่อสอบความรู้

ประโยชน์ของการเรียนแบบ Case-based Learning ทำให้มองเห็นว่าสิ่งที่เรียนรู้มีความสำคัญ นำไปใช้ประโยชน์ได้ ได้เห็นการนำทฤษฎีไปใช้ในภาคปฏิบัติ มีการวิเคราะห์ ได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนเป็นกลุ่ม เชื่อมโยงกับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่จะไปพบ

ก่อนที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี วศินานุกร จะปิดท้ายด้วย Year 2060 : Education Predictions ของ Salman KHAN ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ khanacademy.org โดยบอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น 4 อย่าง คือ 1) รูปแบบของห้องเรียนจะเปลี่ยน 2) เวลาของการสำเร็จศึกษาจะเปลี่ยนเป็น Achievement based 3) ครูจะเป็น Coach เป็นที่ปรึกษา 4) 99% ของประชากรจะรู้หนังสือ


สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
ธีรพงศ์ หนูปลอด ภาพ