Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ผศ.ดร.ปัทมวรรณ จิมากร ซิลลิ ปาฐกถาพิเศษ “Active Learning : Challenges and Innovations” ในงานประชุมวิชาการการเรียนรู้เชิงรุก

อัพเดท : 10/08/2559

2282

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัทมวรรณ จิมากร ซิลลิ อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษ “Active Learning : Challenges and Innovations” ในงานประชุมวิชาการการเรียนรู้เชิงรุก “Active Learning : Challenges and Innovations” เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ณ ห้องอรพินธ์ โรงแรมทวินโลตัส



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัทมวรรณ กล่าวว่า ข้อจำกัดในการทำห้องเรียน Active Learning ด้วยนวัตกรรม เริ่มจาก ความท้าทายที่ 1 Education in peril ระบบการศึกษาของไทยไม่ดี ถึงจุดต่ำสุด ไม่ว่าจะเป็นการประเมินระดับโลกหรือระดับภูมิภาค ประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมาก แต่ทำไมภาษาอังกฤษของเราก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาแย่ เราได้ทำใหการศึกษาไทยดีขึ้นรึเปล่า หากเราดูเกี่ยวกับการเรียนรู้ของคน ถ้าเรียนด้วยการอ่าน ได้ยิน และดู จะจำได้ 10%, 20% และ 30% ตามลำดับ แต่ถ้าได้ไปชมนิทรรศการ ไปพิพิธภัณฑ์ หรือชมการสาธิต ความจำจะเพิ่มเป็น 50% ถ้าเป็นการฝึกและมีส่วนในการเรียนรู้ร่วมกัน จะเพิ่มเป็น 70% จะให้ดีที่สุด คือ การทำโมเดล การเรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง โดยยกตัวอย่างการเรียนภาษาอังกฤษในประเทศบราซิล จะช่วยให้จำได้ถึง 90% ซึ่ง 70-90% นี้ เป็นการเรียนรู้โดยการวิเคราะห์ คำจำกัดความ การสร้างสรรค์ และการประเมิน ซึ่งต้องใช้การเรียนแบบ Active Learning แต่ในความเป็นจริง การออกข้อสอบของเราจะเป็นการเลือกคำตอบที่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงข้อเดียว ใช้การท่องจำและการเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ความรู้เป็น fact ที่เราต้องหาใส่ตัว ขณะที่ทักษะทางปัญญาเป็นการต่อยอดความรู้ เช่น การใช้ความรู้ทางฟิสิกส์มาเรียนรู้เกี่ยวกับน้ำตก การศึกษาของประเทศฟินแลนด์และเยอรมัน เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้

ความท้าทายที่ 2 We can’t do like them เราทำไม่ได้เหมือนพวกเขา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัทมวรรณ กล่าวว่า ถ้าเราตามไม่ทันก็ให้วิ่งไปดักข้างหน้า โดยใช้วิธีนำของแปลกมาใช้ ทำอย่างไรให้เด็กได้วิเคราะห์ คำจำกัดความ คิดรูปแบบการเรียน และประเมินความรู้ของเพื่อนและของเรา Active Learning จึงเป็นการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนอยากมีปฏิสัมพันธ์ทางปัญญา คิดเชื่อมโยงกับการเรียนรู้และการนำไปใช้ในอนาคต ต้องมีคำถาม who, what, why, when, where และ how ถ้าตอบไม่ได้ เราต้องย้อนกลับมาดูว่า ทำไมผู้เรียนถึงคิดแบบนั้น เพราะสิ่งที่ถูกผิดอยู่ที่เราคิดเอง ทำให้การเรียนรู้มีความหมาย

จากความท้าทายทั้งสอง นวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ควรเริ่มจากการเรียนกลุ่มเล็กๆ (start small) โดยยกตัวอย่างของ Cooking in English ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นการเรียนการพูดภาษาอังกฤษผ่านการทำอาหาร รวมทั้งทำให้เป็นเรื่องง่ายๆ เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับ computation โดยใช้วิธ๊การแสดงให้ดู โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ความท้าทายที่ 3 เป็นเรื่อง Naivety and Oblivion ทำไมเด็กถึงไม่มีความรู้รอบตัว เช่น ความรู้ด้านสังคม ประวัติศาสตร์ การเรียนสังคมเป็นเรื่องจริงแต่สิ่งที่ขาดหายไป คือ ความรู้สึก ดังนั้น นวัตกรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรเป็นการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความอยากรู้ อยากเห็น (make them curious) กิจกรรมจึงควรเป็นแบบ open ended เช่น การเรียนรู้ผลของสงครามโลก โดยให้นักเรียนจำลองฉากของเหตุการณ์ ถ้าหากเราต้องอยู่ในบรรยากาศนั้น เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเจ็บปวด โดยมีภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร นักเรียนได้ใช้ทักษะการออกแบบ การคำนวณ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น และนวัตกรรม การทำอะไรนอกกรอบและอย่าตัดสิน (do the unthinkable and don’t judge) และการเรียนรู้เพื่อค้นพบ (discovery-based learning) โดยอาจให้โจทย์การเรียนรู้ เช่น การเป็นผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ

ความท้าทายที่ 4 The society without empathy สังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดความเห็นอกเห็นใจกัน ดังนั้น critical thinking เป็นสิ่งสำคัญ จึงจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมการสร้างให้เด็กมีความเห็นใจ (Create opportunities for empathy to flourish)

ในตอนท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัทมวรรณ จิมากร ซิลลิ สรุปว่า การเรียนรู้เชิงรุกต้องมีเวลา ความพยายามและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเราจะต้องคิดใหม่ใน 5 สิ่งนี้ คือ rethink our context, rethink what we believe in, rethink what we teach, rethink how we teach และ rethink ‘Teacher training’