Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ลงนามเอ็มโอยูถ่ายทอดเทคโนโลยี 2 ผลงานวิจัย ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0

อัพเดท : 25/08/2559

3218



เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุทัศน์ ชาญสวัสดิ์ ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 8 และคุณกรรณิการ์ คงวาริน บริษัท กรีน ออริจินส์ จำกัด ลงนามในสัญญาสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง สูตรและกรรมวิธีการผลิตปืนยางสำหรับฝึกอบรมและการปฏิบัติ และกรรมวิธีการผลิตกรด 5 อะมิโนลีวูลินิกจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิยม กำลังดี รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ม.วลัยลักษณ์ เจ้าหน้าตำรวจ ผู้บริหารบริษัท ตลอดจนผู้บริหารของมหาวิทยาลัย คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า การลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยี เรื่อง สูตรและกรรมวิธีการผลิตปืนยางสำหรับฝึกอบรมและการปฏิบัติ โดย อาจารย์ ดร.ประชิด สระโมฬี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร และกรรมวิธีการผลิตกรด 5 อะมิโนลีวูลินิกจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสง โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร เป็นผู้วิจัย เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยไทยเป็นมหาวิทยาลัย 4.0 นั่นคือผลิตงานวิจัยที่ไม่ได้เป็นแค่การวิจัยขึ้นหิ้ง แต่เป็นการวิจัยที่สามารถตอบโจทย์สังคม สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกรและประเทศไทยได้ ทั้ง 2 ผลงานถือว่าตรงกับนโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้

ซึ่งในด้านการเพิ่มผลผลิตกรรมวิธีการผลิตกรด 5 อะมิโนลีวูลินิกจากแบคทีเรียสังเคราะห์แสง จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะไปขยาย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง ส่วนของงานวิจัยปืนฝึกยางฯ ซึ่งเป็นปืนที่มีลักษณะน้ำหนักที่ใกล้เคียงปืนจริง ดูดี กระชับ ตกไม่แตก ถือเป็นสิ่งที่ดีเป็นอย่างมาก จะทำให้การฝึกของนักเรียนตำรวจมีความแม่นยำและใกล้เคียงกับปืนจริงมากที่สุด นอกจากนี้ในอนาคตหากมีการพัฒนาผลิตปืนยางมากขึ้น ก็จะส่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ทั้ง 2 ผลงานวิจัย ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และมหาวิทยาลัย 4.0 ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความสำเร็จให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แล้ว ในอนาคตจะสร้างความสำเร็จให้กับประเทศ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรไทยได้อย่างแท้จริงด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวในตอนท้าย

ภาพและข่าวโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนประชาสัมพันธ์