Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการปล่อยลูกปูม้าสู่อ่าวทองคำ

อัพเดท : 01/11/2559

3660



เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร จัดโครงการปล่อยลูกปูม้าสู่อ่าวทองคำ เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กับชุมชนรายรอบ โดยจัดสร้างธนาคารไข่ปูม้านอกกระดอง ณ กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน บ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนักศึกษา คณาจารย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ชาวประมงพื้นบ้านและชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 150 คน



โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ คณบดี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ประธานกล่าวเปิดโครงการ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหัวหน้าโครงการ บรรยายพิเศษเรื่อง ชีววิทยาปูม้าและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และอาจารย์จันทิรา รัตนรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บรรยายพิเศษเรื่อง ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยลูกปูม้า



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นตามนโยบายและปณิธานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “มหาวิทยาลัยต้องเป็นหลักในถิ่น” โดยจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยมีที่ตั้งที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศเป็นอย่างมาก ด้านหลังมหาวิทยาลัยเป็นเทือกเขาหลวง ด้านหน้าห่างจากมหาวิทยาลัยไปไม่ไกลเป็นชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ดังนั้นการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงมีความเหมาะสมกับภูมิประเทศที่ตั้งเป็นอย่างมาก การสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ของชุมชนชายทะเลจึงเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นกิจกรรมมุ่งเป้าที่จะให้เห็นผลเชิงประจักษ์และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนรายรอบ คำถามที่ว่าทำไมต้องเป็นปูม้า อาจจะตอบสั้นๆได้ว่าปูม้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งประเทศไทยส่งออกปูม้าเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ปัจจุบันประชากรปูม้าในธรรมชาติลดลงอย่างมาก ดังนั้น กิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าจึงเป็นกิจกรรมที่ควรดำเนินการเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ชาวประมงมีรายได้ที่ดีขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวประมงมีความตระหนักถึงคุณค่าของตัวทรัพยากรและมีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงควบคู่กับการวางแผนการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงหน้าบ้านตนเอง

โครงการปล่อยลูกปูม้าสู่อ่าวทองคำในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้แก่ชุมชน เช่น การเสนอแนะพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยลูกปูม้า การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า อีกทั้งเป็นกิจกรรมเชิงประจักษ์ ในการผูกสัมพันธ์อันดีและสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับชุมชนรายรอบ ชุมชนประมงพื้นบ้านอำเภอท่าศาลา เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และเป็นชุมชนที่มีการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างเข้มแข็ง โดยมีจุดเด่นในเรื่องการทำธนาคารปูม้าในรูปแบบกระชังปูม้าในทะเล สำหรับนำแม่พันธ์ปูมาปล่อยเพื่อเพิ่มจำนวนปูวัยอ่อน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งมีหลักสูตรทางด้านเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จึงได้ลงพื้นที่ทำวิจัยและจัดโครงการเพื่อให้การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อชุมชนและมหาลัยลัยต่อไป

กิจกรรมดังกล่าวนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการ การวิจัย การบริการวิชาการ เข้ากับการเรียนการสอนในหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติจริงตามแนวทางและนโยบายการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษามีทักษะการทำงาน การรับทราบปัญหาของชุมชนและเรียนรู้วิจัยจากแหล่งทรัพยากรที่มีอยู่จริงในพื้นที่ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนนอกเหนือจากการเรียนภาคทฤษฏีในห้องเรียน และภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ ตลอดจนนักศึกษาจะได้เรียนรู้การวางแผนการจัดการปัญหาร่วมกับชุมชนเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

โดยกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากการบรรยายพิเศษเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังมีกิจกรรมร่วมกันปล่อยลูกปูม้าจำนวนกว่า 5 ล้านตัวลงสู่อ่าวทองคำ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นลูกปูม้าที่เป็นผลผลิตจากธนาคารปูไข่นอกกระดองของชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน บ้านในถุ้ง อันเป็นผลผลิตที่เกิดจากการสนับสนุนทางวิชาการของคณาจารย์ในหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ข่าว/ภาพ โดย นางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนประชาสัมพันธ์