Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมภาคีเครือข่าย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็น ในโครงการ อพ.สธ.

อัพเดท : 09/06/2566

2174

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ในฐานะสถาบันแม่ข่ายในการจัดตั้งเครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (เครือข่าย C-อพ.สธ.) เครือข่ายอุดมศึกษา ภาคใต้ตอนบน ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และเครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคใต้ตอนบน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายเชิงประเด็น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยมีประธานเครือข่ายและผู้แทน 8 เครือข่าย ที่สนใจเข้าร่วมประชุมรวมจำนวน 110 ท่าน ณ ห้องประชุมประสานสุขรีสอร์ท อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

        โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวต้อนรับประธานเครือข่ายทั้ง 9 แห่ง สป.อว. แขกผู้มีเกียรติ และคณะผู้เข้าร่วมประชุมฯ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารเครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคใต้ตอนบน กล่าวรายงาน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ และได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร, ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพ.สธ., นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี และ ดร.ปราณี หนูทองแก้ว เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ในครั้งนี้
         

         
       ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ มวล.ได้รับพระราชานุญาตจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มวล.เพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นอย่างมีจิตสำนึกและความตระหนักในคุณค่าของ ทรัพยากร ชีวภาพ กายภาพ และวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในท้องถิ่น อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ท้องถิ่น โดย มวล.ได้ร่วมสนองพระราชดำริ  ในโครงการ อพ.สธ. มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 และ สป.อว.ได้แต่งตั้ง มวล.ให้เป็นสถาบันแม่ข่าย ในการจัดตั้งเครือข่าย C - อพ.สธ. ภาคใต้ตอนบน เพื่อดำเนินงานตามแผนแม่บท อพ.สธ. มาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 


     

         ด้านศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์  กล่าวว่า เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคใต้ตอนบน ขอขอบคุณรักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ให้เกียรติเปิดการประชุมในวันนี้ ด้วย สป.อว.ได้แต่งตั้งให้สถาบันอุดมศึกษา 9 สถาบันทั่วประเทศ เป็นสถาบันแม่ข่ายในการจัดตั้งเครือข่ายเชิงประเด็นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เครือข่ายอุดมศึกษา (เครือข่าย C-อพ.สธ.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยเครือข่ายดังกล่าวเป็นเครือข่ายระดับปฏิบัติการ C (ระดับเครือข่ายเชิงประเด็น–Issue based) เพื่อรองรับงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินงานตามแผนแม่บท อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) ภายใต้ 3 กรอบการดำเนินงาน บนฐานทรัพยากร 3 ฐาน แล้วนั้น การจัดประชุมครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการสนับสนุนงบประมาณ สป.อว.เพื่อให้สถาบันแม่ข่ายและสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย C-อพ.สธ. ในแต่ละภูมิภาคร่วมกันจัดการประชุมประจำปีงบประมาณ เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่ายฯ  ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของเครือข่าย ก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยและวิชาการ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และกระบวนการแก้ไขปัญหา ตลอดจนเพื่อให้ทราบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของโครงการ อพ.สธ. เพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ต่อไป  

      นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของเครือข่ายทั้ง 9 เครือข่าย ได้แก่
1. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคใต้ตอนบน
2. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคใต้ตอนล่าง
3. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคเหนือตอนบน
4. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคเหนือตอนล่าง
5. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
6. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
7. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคตะวันออก
8. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคกลางตอนบน
9. เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคกลางตอนล่าง


     การประชุมฯ ในครั้งนี้ถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาความเข้มแข็งของเครือข่าย C-อพ.สธ. ให้มีความต่อเนื่อง และขยายความร่วมมือด้านการวิจัย และวิชาการกับสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่าย และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในการสนองงานโครงการพระราชดำริ อพ.สธ. ให้บรรลุผลตามเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้ร่วมกัน


     นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้ส่งมอบธงเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงประเด็นฯ แก่ สป.อว. เพื่อส่งต่อให้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (เครือข่าย C-อพ.สธ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงประเด็นในปี 2567 

\

 

ข่าวและภาพโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร
ปกข่าว FB : ศูนย์ประสานงาน อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์