
ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า มวล.วช. ร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัย ในด้านการเกษตรและอาหารแนวใหม่ ในหัวข้อ “ธนาคารปูม้า คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023) ครั้งที่ 12” ภายใต้แนวคิด “วิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล” เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ โดยใช้การวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคบริหารจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องไปสู่อนาคตต่อไป ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
โครงการธนาคารปูม้า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับงบประมาณอุดหนุนการทำวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยการจัดทำธนาคารปูม้านับได้ว่าเป็นกิจกรรมต่อยอดและขยายผลงานวิจัยและเผยแพร่ที่ตอบโจทย์ความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและการวางแผนการบริหารจัดการปูม้าให้มีใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจะตอบโจทย์ “การกำจัดความหิวโหยและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร” การส่งเสริมการฟื้นฟูปูม้าเพื่อรักษาผลผลิตปูม้าให้เพียงพอต่อการแปรรูปเพื่อช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการจ้างงาน” นอกจากนี้โครงการธนาคารปูม้ายังเป็นโครงการที่สามารถใช้เป็นข้อมูลตอบโจทย์เพื่อลดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยดำเนินการตามแผนและตามหลักการของ Fishery Improvement Program (FIP) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายองค์กรทำงานร่วมกัน ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมธนาคารปูม้าจึงสามารถยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและการลดการกีดกันและกดราคาสินค้าจากต่างประเทศได้ รวมทั้งส่งเสริม “การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน” และ “ส่งเสริมความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”
การถ่ายทอดงานวิชาการเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และแนวทางการจัดทำธนาคารปูม้าบนพื้นฐานของความเหมาะสมทางวิชาการ เพื่อขยายผลการทำธนาคารปูม้าในหลายพื้นที่เพื่อเพิ่มประชากรปูม้าในระบบธรรมชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดูแลพื้นที่ 2 จังหวัด คือจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 62 ธนาคาร การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารปูม้าเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นลูกหลานชาวประมงสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูปูม้า กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ผ่านกระบวนการบูรณาการระหว่างหลายภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐทางด้านประมง กรมประมง โรงเรียน ชุมชนประมง กลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มท่องเที่ยวต่าง ๆ นำมาสู่การจัดทำธนาคารปูม้าที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนา หัวข้อ “ธนาคารปูม้า คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” โดย รศ.ดร.รุ่งรวี จิตภักดี ผู้อำนวยการอุทยานพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ร่วมวิจัย และนายเจริญ โต๊ะอิแต นายกสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง เป็นโมเดลความสำเร็จของการจัดการของการจัดการธนาคารปูม้าโดยชุมชนมีส่วนร่วม สู่ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและยกระดับเศรษกิจชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น.-10.45 น. ณ เวที Highlight Stage