Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

พยาบาล มวล. ลงนามความร่วมมือกับ อบจ.นครศรีฯและ กสศ. ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผลิตผู้ช่วยพยาบาล สนับสนุนการดูแลสุขภาพเชิงรุกแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้

อัพเดท : 15/07/2568

259

สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือ “เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและการผลิตและพัฒนาบุคลากรสายสาธารณสุข” กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผลิตวิชาชีพผู้ช่วยพยาบาลสนับสนุนการดูแลสุขภาพเชิงรุกแก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้

วันนี้ (15 ก.ค.’68) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรเพ็ญ สุขะวัลลิ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและการผลิตและพัฒนาบุคลากรสายสาธารณสุข จังหวัดนครศรีธรรมราช” ร่วมกับนางสาววาริน ชิณวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) และนายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ อุษา น่วมเพชร อาจารย์ประจำสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มวล. นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (ชั้น 5) จังหวัดนครศรีธรรมราช

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยการสร้างโอกาสให้เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาด้านสาธารณสุข หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 ปี จนสำเร็จการศึกษา และ บรรจุเป็นผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (อบจ.) หรือในพื้นที่จังหวัดตามภูมิลำเนาของตน ทั้งในโรงพยาบาล คลินิก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ช่วยให้เยาวชนเข้าถึงอาชีพ สร้างรายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว และหลุดพ้นจากกับดักความยากจนในระยะยาวได้อย่างแท้จริง โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้ง 3 ฝ่ายได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรเพ็ญ สุขะวัลลิ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็น “สะพานแห่งโอกาส” ที่เชื่อมเยาวชนจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรืออยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการทำงานในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีศักยภาพสูงในการพัฒนา แต่ยังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรเพ็ญ กล่าวอีกว่า พันธกิจของมหาวิทยาลัยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน แต่ครอบคลุมถึงการลงพื้นที่ การทำงานร่วมกับภาคีในท้องถิ่น และการวางระบบพัฒนาคนที่มีความยั่งยืน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และเศรษฐกิจของชุมชน โดยเฉพาะในด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรสายสาธารณสุข ที่สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กสศ. ในการออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดเส้นทางสู่อาชีพให้กับนักศึกษา เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปทำงานและเป็นกำลังหลักในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนของตนเอง สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มวล. มีความเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการ “ออกแบบอนาคตของพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคนในพื้นที่” เราจะสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้

ด้านนางสาววาริน ชิณวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น ผ่านการผลิตและพัฒนาบุคลากร สายสาธารณสุขว่า ภายใต้การดำเนินงานนคร Connext  ที่ อบจ.มีความตั้งใจจะประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรของประเทศและทั่วโลก ที่มีองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราชให้พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะ ซึ่ง 20%  ของจำนวนประชากรของประเทศไทย คือผู้มีรายได้ต่ำที่สุด และเป็นผู้ที่ประสบปัญหาความยากจนข้ามรุ่น สิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้คือ “การศึกษา” การบริหารด้านการศึกษาจึงเป็นแกนหลักในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คือ ผู้สำเร็จการศึกษาและได้ประกอบอาชีพผู้ช่วยพยาบาล และเป็นต้นแบบของคนอื่นๆในชุมชน ถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา และทักษะทางวิชาชีพทุกวิชาชีพที่มี อบจ.ยืนยันว่าทุกนโยบายทางการศึกษา จะดำเนินงานลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยใช้เวลา งบประมาณและศักยภาพในการบริหารด้วยใจเพื่อให้ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ในจังหวัดนครศรีธรรมราชให้มากที่สุด  

ด้านนายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวถึงนโยบายของ กสศ. ในการสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า กสศ.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มวล.และอบจ.นครศรีธรรมราช มาเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและผลิตพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้ “เมืองคอนโมเดล” ซึ่ง กสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาส ตั้งแต่วัยแรกเกิด-วัยแรงงาน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาอย่างมีคุณภาพเพื่อบรรเทาความยากจน หนึ่งในการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ กสศ. คือโครงการทุนนวัตกรรมสายวิชาชีพชั้นสูง โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้สนใจที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ให้มีโอกาสในการศึกษาต่อในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งเป็นหลักสูตรหนี่งภายใต้ทุนการศึกษานี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 - ปัจจุบัน โดยมีผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษามาแล้ว จำนวน 6 รุ่น จำนวน 2,000 คน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่มีหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 18 แห่ง รวมทั้งสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมา  

ทั้งนี้ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพผู้ช่วยพยาบาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบันมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว จำนวน 9 รุ่น รวม 352 คน และเป็นผู้ได้รับทุนการศึกษาจาก กสศ.จำนวน 24 คน ในปีการศึกษา 2567 โดยจะเปิดรับสมัครช่วงเดือน พย.-กพ.ของทุกปี ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ https://nurse.wu.ac.th/

ข่าวโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร 
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก เพจ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.นศ.