
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ Institut Teknologi dan Pendidikan Markandeya Bali (ITP Markandeya Bali) ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ วิจัย และการเรียนการสอน เสริมจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี และการจัดการเรียนรู้สู่ระดับนานาชาติโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มวล. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์ ดร. อิ วะยัน นูเมอร์ทะยาซา อธิการบดี ITP Markandeya Bali ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและยกระดับการพัฒนาด้านวิชาการ วิจัย และการเรียนการสอน เสริมจุดแข็งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและ เทคโนโลยี และการจัดการเรียนรู้ต่อยอดการพัฒนาสู่ระดับนานาชาติ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ITP Markandeya Bali ในวันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการลงนามในเอกสารอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางวิชาการด้วยความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาความเป็นเลิศทางการศึกษาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองสถาบัน
“ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ทั้งสองสถาบันมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร การทำวิจัยร่วมกัน การจัดประชุมวิชาการ และการพัฒนาหลักสูตรร่วม โดยเฉพาะในสาขาการพยาบาล วิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยี และการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งเป็นจุดแข็งของทั้งสองสถาบัน” อธิการบดี มวล. กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในระดับนานาชาติซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และยกระดับคุณภาพการวิจัย ในฐานะที่ มวล.เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ปัจจุบันมีสัดส่วนของผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารกลุ่ม Quartile 1 (Q1) สูงที่สุดในประเทศ โดย ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus อยู่ในกลุ่ม Q1 มากถึง 82.3%
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. อิ วะยัน นูเมอร์ทะยาซา ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อการต้อนรับอย่างอบอุ่นของคณะผู้บริหารและบุคลากร มวล. พร้อมกล่าวว่าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ไม่ใช่แค่พิธีการเชิงสัญลักษณ์ แต่คือพันธะสัญญาที่แท้จริงในการส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษา การวิจัย และการบริการวิชาการแก่ชุมชน “เรามีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อทั้งสองสถาบัน นักศึกษา ชุมชนและสังคมโดยรวม”
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามโดยอธิการบดีของทั้งสองสถาบันฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันลงนาม นอกจากการส่งเสริมด้านการวิจัยและการเรียนการสอนแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงการฝึกงานหรือสหกิจศึกษา เพื่อให้นักศึกษาจากทั้งสองสถาบันได้มีโอกาสฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระดับนานาชาติ และเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพในอนาคตอย่างรอบด้าน โดยปัจจุบันมีนักศึกษาจาก ITP Markandeya Bali ประเทศอินโดนีเซีย มาฝึกประสบการณ์การทำงาน ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว จำนวน 10 คน
ข้อมูลและภาพโดย เศรษฐบุตร อ่อนภักดี ส่วนสื่อสารองค์กร
เรียบเรียงโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร