Location

0 7567 3000

ระดับชาติ

นศ.ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลเวที EDC Pitching ภายใต้หัวข้อ “Digital in Hand”

อัพเดท : 18/07/2566

1576

       
           นักศึกษาหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลชมเชยจากการแข่งขันกิจกรรม Digital in Hand จุดแคมเปญเค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์ ซึ่งจัดโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย พร้อมด้วยศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท และ บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด (Dek-D) โดยรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2566 ที่ผ่านมา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรและโล่รางวัล ได้แก่ ทีม Powerpoint girls ประกอบด้วย นางสาวสริดา แซ่ตัน ,นางสาวสุธาสินี ขาวทอง และนางสาวอรินดา เกษเพชร รางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรได้แก่ ทีม To be creator สมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวอัมนี หมัดอาด้ำ ,นางสาวดีน่า คินาซิ อัตตา ชาคิฟ และนายอธิษฐ์ งอกคำ โดยทั้ง 2 ทีมมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิริวัจนา แก้วผนึก เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ นายเมธัส อินทร์ทองปาน นักวิชาการประจำหลักสูตรเป็นผู้ควบคุมทีม 
 

 

     โดยผลงานของทีม Powerpoint girls ที่สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้สำเร็จ มาจากแผนรณรงค์ “ออนไลน์เมื่อพร้อม” ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากปัญหาคอนเทนต์ของผู้เยาว์ที่เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่ เช่น การสูบบุหรี่ไฟฟ้า เต้นยั่ว หรือความรุนแรง โดยจากสถิติเด็กและเยาวชนอายุ 6-18 ปี เป็นช่วงวัยที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดถึง 85.8% โดยแผนรณรงค์นี้จัดทำเป็น 3 เฟส คือ 1) เผยแพร่หนังสั้น “คอนเทนต์ต้องห้าม” 2) ให้คนดูมีส่วนร่วมกับหนัง Challenge TikTok และ Reaction และ 3) ให้ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อ Digital Footprint และกฏหมายเผยแพร่สื่อลามก โดยยกประเด็นจากหนังสั้นเป็นตัวอย่างประกอบ 

     ส่วนผลงานของทีม To be creator คือแผนรณรงค์ “Creator วัยใสรู้ภัยออนไลน์” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนอายุ 13-15 ปี ที่ต้องการมีอาชีพ สร้างรายได้ หรือมีชื่อเสียงจากการเป็น Content Creator หรือ Youtuber  โดยยังไม่รู้เท่าทันภัยออนไลน์ เป้าหมายของแผนรณรงค์ คือ ต้องการสร้างชุมชนของ Content Creator วัยใสและสนับสนุนให้ Content Creator ช่วยขับเคลื่อนสังคมผ่านทางโลกออนไลน์ ด้วยวิธีการ คือ 1) การให้ความรู้ผ่าน “Createst Game” และ 2) การทำ Content “ชวนเพื่อนเป็น Creator”

     ทั้งนี้ กิจกรรม EDC Pitching หรือชื่อเต็ม คือ ETDA Digital Citizen Pitching ภายใต้หัวข้อ “Digital in Hand จุดแคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจาก  ภัยออนไลน์” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ชวนคนในทุก Gen ไม่จำกัดอายุ เพศ และระดับความรู้ ร่วมสมัครประลองไอเดีย การสร้างสรรค์แคมเปญ กิจกรรม หรือสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่มีประเด็นสอดคล้องกับหลักสูตร EDC เพื่อเฟ้นหาสุดยอดแคมเปญ กิจกรรม หรือสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะเข้ามาเป็นกลไกในการร่วมผลักดันและส่งเสริมให้คนไทยเกิดความรู้ ความเข้าใจในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน ภัยออนไลน์ พร้อมก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ซึ่งหลังจากเปิดรับสมัครในช่วง วันที่ 21 เมษายน - 4 มิถุนายน 2566 พบว่า มีเหล่า EDC Trainer นิสิต นักศึกษา ตลอดจนคนทุกกลุ่ม ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดจำนวนมาก และจากการพิจารณาตัดสินของเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่ามีทีมที่มีผลงานโดดเด่น 10 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้าสู่กิจกรรมในรอบไฟนอล กับ EDC Pitching ดังนี้  โดยทีม Powerpoint Girls และทีม To be creator จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็น 1 ใน 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายและสามารถคว้ารางวัลดังกล่าวมาได้สำเร็จ