Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมถอดบทเรียนกลไกเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยสู่ความสำเร็จ ในงาน"มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)"

อัพเดท : 18/08/2566

549

          เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และในฐานะหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า ร่วมเป็นวิทยากร หัวข้อ “กลไกเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยสู่ความสำเร็จ” เป็นการถอดบทเรียนความสำเร็จของการทำงานวิจัย ภายใต้กลุ่มเศรษฐกิจที่รับทุนไปในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านมา ณ ห้องกลุ่มเฉพาะเรื่อง ชุดโปรแกรมสัตว์เศรษฐกิจ เวลา 09.00 - 12.00 น. ห้อง Lotus 8 ร่วมกับนักวิจัยเครือข่ายประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการด้านโคนม และแพะ ผู้ช่วยสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (น่าน) โครงการปลาสวยงาม  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนตรี ปัญญาทอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการวิจัยไก่พื้นเมือง (ประดู่หางดำ) และ ผู้ช่วยสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย สร้างเศรษฐกิจชุมชนได้สูงในหัวข้อเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยสู่ความสำเร็จ ในประเด็นถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการวิจัย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานวิจัย กลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ความสำเร็จ ตลอดจนแนวทางขับเคลื่อนเครือข่ายสู่ความยั่งยืน และปัญหาหลักๆของกลไกการขับเคลื่อนเครือข่าย ในงาน"มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)" ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้เเนวคิด “ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

          โดยความสำคัญของเครือข่ายต่อความสำเร็จของงานวิจัย พบว่าในการขับเคลื่อนผลผลิตงานไปสู่การใช้ประโยชน์ เครือข่ายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำงานวิจัยในยุคปัจจุบัน โดยบทบาทของเครือข่ายในการมีส่วนร่วมในการวิจัยนั้น หากเครือข่ายวิจัยเข้ามามีบทบาทในการวิจัยมากเท่าไร ความสำเร็จก็จะมีมากเท่านั้น อย่างไรก็ตามการสนับสนุนของเครือข่ายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการวิเคราะห์ความสำคัญและเข้าใจเงื่อนไขของเครือข่าย และแสวงหาความสามารถที่เครือข่ายจะมาสนับสนุนให้งานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญ โดยวงแลกเปลี่ยนได้พูดคุยกันถึงประเด็นกลุ่มภาคีเครือข่ายได้ 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
          1. เครือข่ายของกลุ่มนักวิจัยและหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยนักศึกษาเครือข่ายที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทีมวิจัยต้องมีหลากหลายขึ้น มีความเชี่ยวชาญที่เฉพาะด้านในประเด็นโจทย์วิจัยที่เป็นปัญหา รวมถึงหน่วยสนับสนุนการจัดการงานวิจัยในมหาวิทยาลัยและหน่วยให้ทุนวิจัย ซึ่งมีความสำคัญในการอำนวยและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยไปสู่สังคมได้กว้างขวางขึ้น
          2. เครือข่ายกลุ่มเป้าหมาย (User) คือผู้ที่รอใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง และมีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยกับนักวิจัย งานวิจัยที่ประสบความสำเร็จมักจะเห็นกระบวนทำงานที่ให้ผู้ใช้ประโยชน์เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ตั้งโจทย์วิจัยร่วมกันและลงมือปฏิบัติการงานวิจัยไปด้วยกัน เกิดการสร้างการเรียนรู้และเปลี่ยนทัศนคติและทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายได้จริง ทำให้การนำเอาผลผลิตงานวิจัยไปใช้จริงและเปลี่ยนแปลงการผลิตของตนเองได้ก่อนกลุ่มอื่น ๆ
          3.เครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือคนที่มีบทบาทในการขยายผล ปัจจุบันมีการใช้คำ “นวัตกรชุมชน” คือผู้นำงานวิจัย นวัตกรรม ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปขยายผลถ่ายทอด และเชื่อมโยงกับกลไกอื่น ๆ ซึ่งในงานวิจัยที่ดี นวัตกรไม่เพียงแต่เป็นผู้นำในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงผู้ที่มีบทบาททางหน้าที่กับกิจกรรมเหล่านั้น เช่นนักส่งเสริมเกษตร นักวิชาการ นักยุทธศาสตร์ นักพัฒนา คนเหล่านี้คือภาคีที่มีบทบาทในการนำผลผลิตงานวิจัยไปสู่การถ่ายทอดและประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง
          4. เครือข่ายภาคภาคเอกชน/ผู้ประกอบการท้องถิ่น คือผู้ที่นำผลผลิตไปสู่ผู้บริโภค หรือภาคบริการ ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาสใหม่ให้กับตลาด ที่จะกลายเป็นรายได้ใหม่ที่ดีขึ้น
          5. เครือข่ายผู้สนับสนุนต่อเนื่อง (Supporter) คือผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการขยายผลผลิตจากงานวิจัยไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง และเชื่อมโยงจนกลายเป็นแผนงาน โครงการ ภายใต้กลยุทธ์ของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก ทั้งภาครัฐ อปท. วิสาหกิจ  องค์กรพัฒนาเอกชน

 #กลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ความสำเร็จ

          การขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ความสำเร็จ จำเป็นต้องมีการออกแบบวิธีการทำงานให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งวงสนทนาได้เรียนรู้วิธีการทำงานผ่านโครงการวิจัยต่าง สามารถสรุปกลไกที่เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน พบว่าควรมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
          1. ชุดข้อมูลที่ถูกต้องและมีการยืนยันผลเชิงประจักษ์ ให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อถือและมั่นใจต่อการใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดการและพัฒนาขยายผล
          2. การมีเป้าหมายร่วมการทำงานร่วมกันของเครือข่ายต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วม ซึ่งเป้าหมายร่วมที่ดีต้องมีคุณค่าและผลประโยชน์ในรูปแบบ Win-Win คือการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจของทุกฝ่าย และตอบโจทย์การสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง 
         3. การทำงานด้วยความร่วมมือ ที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และใช้บทบาทหน้าที่ของภาคีมาส่งเสริมการทำงาน และเข้าใจเงื่อนไข ข้อจำกัดของภาคีเครือข่ายในการทำงาน เพื่อช่วยเสริมจุดอ่อนให้เครือข่ายได้สามารถร่วมขับเคลื่อนด้วยความสุข
          4. มีพื้นที่ร่วมทำงาน ที่ทำให้เครือข่ายเข้าถึง เข้าร่วมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่อาจหมายถึงกิจกรรม วิธีการที่ทำให้ทุกคน มีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
          5. มีกติกา ข้อตกลงร่วมกันเมื่อมีพื้นที่แล้ว ที่สำคัญคือการมีกฎกติกา ร่วมกันของเครือข่ายต่อการทำงาน ต่อการดำเนินงานสู่เป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่ในตำแหน่งการทำงานที่เหมาะสมและสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง
          6. มีกระบวนการเรียนรู้ ที่จะทำให้เครือข่าย ผู้รับประโยชน์ได้เรียนรู้ และทบทวนตัวเอง และสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

#แนวทางการพัฒนาขับเคลื่อนเครือข่ายสู่ความยั่งยืน

          การขับเคลื่อนเครือข่ายสู่ความยั่งยืนนั้น มีความน่าสนใจมากในความสำเร็จของหลายโครงการ ซึ่งแนวทางที่เรียนรู้ผ่านตัวอย่างที่นั้น คือการให้ความสำคัญกับเครือข่าย และการให้เครือข่ายมีส่วนรับผิดชอบในการทำงาน ตามบทบาทที่เป็นหน้าที่ของเขาเอง รวมถึงการให้เครือข่ายได้คุณค่าอย่างเหมาะสมและนำไปขยายผลได้จริง มีข้อเรียนรู้มากมาย โครงการวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการใช้และขยายผล ที่เรียนรู้ผ่านโครงการจากทั้ง 4 ท่านนั้น เงื่อนไขสำคัญที่เรียนรู้ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการมีเครือข่ายมาสนับสนุนและร่วมทำงานกับโครงการวิจัย โดยมีคำนิยามคำว่าเครือข่ายของวิทยากรทั้ง 4 ท่านคือ         
     - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนตรี ปัญญาทอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า "เครือข่าย" คือ "ความยั่งยืน"
     - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (น่าน) บอกว่า "เครือข่าย" คือ "ความเกื้อกูล"
     - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกว่า "เครือข่าย" คือ "ทีมเวิร์ค" เครื่องแกงปักษ์ใต้ที่มีความลงตัว แต่เข้มข้น
     - ศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า "เครือข่าย" คือ "เพื่อน พันธมิตร"

          ได้ฟังจากทุกท่าน ก็ได้เห็นนิยามต่าง ๆ ที่ให้ความหมายสื่อถึงการมองเครือข่ายที่เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการทำงานและความสำเร็จของงานวิจัย  และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทำงานไปนาน ๆ เครือข่ายมักจะกลายเป็น "คนคอเดียวกัน"

ข้อมูลข่าวจาก ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผู้ดำเนินรายการ

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/22411