
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หทัยชนก คมเม่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัปสร บุญยัง และ ว่าที่ ร.ต.(หญิง) จิราพัชร น้ำแก้ว อาจารย์สังกัดสำนักวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษาสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และสำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ มีการลงพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ ด้าน STEM education แก่นักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อย่างต่อเนื่อง โดยในจัดกิจกรรมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ได้การเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียน หลังจากที่ได้ทำการทดลองปลูกพืช (ถั่วเขียว) ในกิจกรรมก่อนหน้าในครั้งที่ 2 ได้แบ่งนักเรียนเป็นจำนวน 3 กลุ่ม ๆ ละ 5 คน ทำการทดลองปลูกเมล็ดถั่วเขียว จำนวนกลุ่มละ 4 กระถางในปัจจัยที่มีต่อการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน โดยกระถางที่ 1 อยู่ในร่ม ไม่รดน้ำ กระถางที่ 2 อยู่ในร่ม รดน้ำทุก 2 วัน กระถางที่ 3 วางในที่โดนแดด ไม่รดน้ำ และกระถางที่ 4 วางในที่โดนแดด รดน้ำทุก 2 วัน ใช้เวลา จำนวน 17 วัน สำหรับในครั้งที่ 3 ได้ให้ความรู้ในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยให้นักเรียนบันทึกเปรียบเทียบการเติบโตของถั่วเขียวที่สังเกตได้ในแต่ละกระถาง บันทึกค่าเฉลี่ยของความสูงและความยาวของใบถั่วเขียว และให้นักเรียนเขียนกราฟระหว่างวันที่กับความสูงของลำต้นถั่วเขียวและความยาวของใบถั่วเขียว โดยกิจกรรมดังกล่าวมีการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน และบริการวิชาการ: ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้แบบ STEM Education โรงเรียนชุมชนใหม่
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 4 (Quality education) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย