Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช นิสภาธร : World’s Top 2 percent Scientists by Stanford University 3 ปีซ้อน สาขา Tropical Medicine

อัพเดท : 23/07/2567

832

          รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช นิสภาธร อาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผู้หลงใหลในงานวิจัยด้านโรคเขตร้อน โดยเฉพาะปรสิต Toxoplasmosis สาเหตุของการเกิดโรค Toxoplasmosis หรือโรคขี้แมว Waterborne Parasites และการศึกษาค้นคว้าด้านพืชสมุนไพรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผลงานวิจัย/บทความทางวิชาการ ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติกว่า 150 เรื่องและเป็นนักวิจัยที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก “World’s Top 2% Scientists” ตั้งแต่ปี 2021-2023 จาก Stanford University โดยติดอันดับมีผลกระทบการอ้างอิงตลอดชีพ และติดอันดับผลกระทบการอ้างอิงเฉพาะปี ในสาขา Tropical Medicine

          รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจาก Lady Hardinge Medical College         มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย โดยได้รับทุนการศึกษาจากสภาความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของอินเดีย (Indian Council for Cultural Relations) สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง Tropical Medicine & Hygiene (DTM&H) และปริญญาโท Clinical Tropical Medicine (MCTM) จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย ระหว่างปี 2542-2560 จากนั้นได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 เส้นทางการทำวิจัยของ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช นิสภาธร

          รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช เล่าว่าตนเองรักและหลงใหลในปรสิต Toxoplasmosis เป็นอย่างมาก ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาโทด้านโรคเขตร้อน ประกอบกับตนเองเป็นคนรักสัตว์ เลี้ยงสุนัขและแมวหลายชีวิต ทำให้รู้สึกว่าสมัยเรียนยังไม่สามารถค้นคว้าด้านนี้ได้เต็มที่ เพราะต้องแบ่งเวลาไปกับการดูแลผู้ป่วย แต่โชคดีที่ได้เจอนักวิจัยที่ชอบปรสิตตัวนี้เหมือนกันที่มหาวิทยาลัยมาลายา ทำให้มีโอกาสได้ศึกษาวิจัยปรสิตตัวนี้มากยิ่งขึ้น เพราะปรสิตตัวนี้สามารถติดต่อในคนได้หลายกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยหลายรูปแบบ ทั้งคนปกติและคนที่ไม่ปกติ เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงเป็นที่มาที่ทำให้ตนเองได้เปิดโลกทัศน์ในการทำวิจัยทางด้านนี้

“การทำวิจัยเราต้องเริ่มจากการเริ่มสร้างตัวเองให้ได้ก่อน เมื่อทำแล้วสนุกกับมันได้ เราจึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ”

          รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช  เล่าต่อว่า จากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากปรสิตตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง จากอยู่ในตัวคนไปอยู่ในน้ำ พอไปในน้ำก็รู้สึกว่าไม่น่าจะพอแค่อยู่ในกลุ่มคนน้อย ๆ จึงไปต่างประเทศ เป็นที่มาของการได้เป็นผู้ประสานในอาเซียน มีผู้สนใจจาก 6-7 ประเทศ ที่สนใจพยาธิตัวนี้และมาทำด้วยกัน ติดต่อกัน ส่งนักเรียนแลกเปลี่ยนกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้ขยายความร่วมมือไปยังหลาย ๆ ประเทศจนกระทั่งทั่วโลก

“การทำวิจัย ทำให้ได้ขยายขอบเขตองค์ความรู้ไปเรื่อย ๆ เหมือนไฟลามทุ่ง เป็นจุดที่ทำให้เรามีความสุข การได้พูดคุยกันทุกวัน มีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาท้าทาย ทำให้ต้องคิดตลอดเวลา มีอะไรหลาย ๆ อย่างเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน”

ผลงานวิจัยเด่น

ด้านงานวิจัย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ได้นำหลักผสมผสานทางความคิดแบบ “Mind and Science” ระหว่าง นักปรัชญาเมธีระดับโลก ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ และ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ มาใช้ในการทุ่มเทด้านงานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้าน Toxoplasmosis, Waterborne Parasites และการประยุกต์นาโนเทคโนโลยีเกี่ยวกับเชื้อปรสิต เชื้อโรคที่แพร่ระบาดทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศลาตินอเมริกา จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนการศึกษาวิจัยทางด้านพืชสมุนไพร ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนกระทั่งขยายไปทั่วโลก มีผลงานทางวิชาการได้รับการอ้างอิงมากกว่า 3,700 ครั้ง มีผู้อ่านกว่า 134,000 คน และคะแนนดัชนี 33 นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ได้รับการจดลิขสิทธิ์/อนุสิทธิบัตรทางปัญญา 2 เรื่อง คือ กรรมวิธีการเร่งการเข้าสู่ระยะซีสต์ของอะแคนทามีบา (เลขที่อนุสิทธิบัตร 22568) และ สูตรอนุภาคนีโอโซมสำหรับเก็บกักเคอร์คูมินซึ่งสกัดจากขมิ้นชันที่มีคุณสมบัติในการต้านโรคลิชมาเนียหรือโรคลิชมาเนียซิสชนิดที่มีผลต่ออวัยวะภายใน (เลขที่อนุสิทธิบัตร 22648) ภายใต้โครงการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ผลกระทบของงานวิจัยต่อสังคมในด้านต่าง ๆ

          ความโดดเด่นในงานวิจัยด้านปรสิตวิทยาทางการแพทย์ของ รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายวิจัยกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย มหาวิทยาลัย Centro Escolar-Manila และ De La Salle University- Dasmariñas ประเทศฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ คณะชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นต้น ภายใต้ชื่อ Southeast Asia Water Team (SEA Water Team) ซึ่งเป็นการวิจัยน้ำที่เกี่ยวกับปรสิตวิทยาทางการแพทย์ สิ่งแวดล้อมและความแตกต่างทางชีวภาพ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554 เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างผลผลิต เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมวิจัยของทุกสถาบันการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเครือข่ายระดับภูมิภาคและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระหว่างผู้เชี่ยวชาญ

          รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง วีระนุช ยังมีความรักในการพัฒนางานวิจัยที่ยึดผลผลิตตามธรรมชาติต่อต้านเชื้อโรค เช่น โปรโตซัว ได้แก่ Acanthamoeba spp, Plasmodium falciparum, Leishmania donovani แบคทีเรีย ได้แก่ Acinetobacter baumannii, Klebsiella, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และเชื้อไวรัสต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่, COVID-19 โดยความร่วมมือกับประเทศในสมาชิกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย บังกลาเทศ จีน อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย เป็นต้น

ผลงานและรางวัล

          รองศาสตราจารย์ พญ. วีระนุช นิสภาธร เป็น 1 ใน 5 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก “World’s Top 2% Scientists” ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2021-2023 จากการจัดอันดับโดย Stanford University โดยติดอันดับมีผลกระทบการอ้างอิงตลอดชีพ และติดอันดับผลกระทบการอ้างอิงเฉพาะปี ในสาขา Tropical Medicine

          ได้รับรางวัล "Research Fellow Award" โดยเป็น 1 ใน 10 ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับ The Dr. Matthew Eichler Research and Education Awards จากการได้รับเชิญเป็น "Panelist Speaker" ในที่ประชุม The Asia Pacific Consortium of Researchers and Educators International Conference 2018 หัวข้อ "Advancing Multidisciplinary Research towards a Spectrum of Opportunities" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2561 ณ The Westin Resort Guam ประเทศสหรัฐอเมริกา

          รางวัลเชิดชูเกียรติด้านการวิจัย ประจำปี 2563 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้มอบรางวัล

          รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ยังเป็นผู้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ในงานประกาศรางวัลนักวิทยาศาสตร์นานาชาติด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ครั้งที่ 9 ที่ประเทศอินเดีย ในปี 2563, เป็นผู้รับรางวัล “ความเป็นเลิศในด้านความเป็นผู้นำ” ในงาน International Symposium on Integrative Medicine and Health วันที่ 4-5 พฤษภาคม 2566 ที่ University of Aveiro ประเทศโปรตุเกส,   เป็นนักวิทยาศาสตร์รับเชิญระดับนานาชาติคนแรกที่ได้รับเลือกให้ลงบทสัมภาษณ์ในวารสารของสมาคม มาตรฐานพืชสมุนไพรแห่งแอฟริกา (AAMP) ในเดือนมิถุนายน ฉบับที่ 14 ปี 2566, และยังได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ 5,000 อันดับแรกของประเทศไทย (ลำดับที่ 230) ประจำปี 2566

          มีผลงานวิจัย/บทความทางวิชาการ ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติกว่า 150 เรื่องตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียงในฐานข้อมูลของ ISI และ Scopus-indexed เช่น Lancet HIV, Frontier in Immunology, PLoS ONE, American Journal of Tropical Medicine and Hygiene, Frontier in Microbiology, Parasite and Vectors, Experimental Parasitology, Journal of Obstetrics and Gynecology และ Singapore Medical Journal และได้รับเชิญให้เป็น Academic Editor ของบทหนังสือ“Chagas Disease - Basic Investigations and Challenges ” ใน IntechOpen

          นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ พญ.วีระนุช ยังมีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Q1 และ Q2 อีกมากมายเช่น Isolation and Characterization of Werneria Chromene and Dihydroxyacidissimol from Burkillanthus malaccensis (Ridl.) Swingle ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Plants journal Q1 Curcumin effect on Acanthamoeba triangularis encystation under nutrient starvation in PeerJ Q1, Precision and Advanced Nano-Phytopharmaceuticals for Therapeutic Applications in Nanomaterials Open Access Scopus Q1, Does Oxidative Stress Management Help Alleviation of COVID-19 Symptoms in Patients Experiencing Diabetes? In Nutrients Open Access Scopus Q1, Can Artemisia herba-alba Be Useful for Managing COVID-19 and Comorbidities? In Molecules Open Access Scopus Q2, Nanotechnology applications of flavonoids for viral diseases. In Pharmaceutics Scopus Q1, Some Mosquitoes of Peninsular Malaysia, University of Malaya Press in 2012, Importance of Zoonotic Waterborne Pathogens in Animal Waste, Water Quality and Human Health, World Health Organization เป็นต้น

          รวมทั้งได้ไปนำเสนอผลงานทางวิชาการในประเทศต่างๆ ทั้งทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เช่น ประเทศอังกฤษ เยอรมัน จีน ออสเตรเลีย โปรตุเกส เม็กซิโก บราซิล รัสเซีย อินเดีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ตูนิเซีย และไทย รวมทั้งเป็นผู้ประเมินบทความวิจัยมากกว่า 60 วารสารทั่วโลก (อาทิ The Lancet, Lancet HIV, Lancet Infectious Diseases, Frontiers, Transactions RSTMH, MDPI, และ BMC เป็นต้น) เป็นสมาชิกกองบรรณาธิการ เป็น Associate Editor เป็น Lead Guest Editor เป็น Guest Speaker ในงานเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ และ Visiting Professor อีกด้วย

          รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง วีระนุช ได้สร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการและงานวิจัย ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยร่วมเป็นภาคีสมาชิกองค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น International Union for Sexual Transmitted Infections (IUSTI), Malaysian Society of Parasitology and Tropical Medicine, (MSPTM), Asia-Pacific Consortium of Researchers and Educators (APCORE), The Asian Society of Pharmacognosy, The Natural Products Research Network for East and Central Africa, International Conference on Natural Products and Human Health (ICNPHH), และ World Union for Herbal Drug Discovery (WUHeDD) องค์การกุศลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เช่น สิทธิและการคุ้มครองสัตว์ และการดูแลสัตว์ เป็นต้น

เรียบเรียงโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร