
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผศ.ดร.ทนง เอี่ยวศิริ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมด้วยนักศึกษา และ ผศ.กิตติ เชาวนะ สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป ร่วมด้วย ศูนย์บริการวิชาการ จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ขนมจากข้าวพื้นเมืองให้กับชุมชนบ้านท่าเสริม ตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ข้าวเกรียบว่าว ดอกจอก ทองพับ และสาโท ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 30 คน จากชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอหัวไทร ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวพื้นเมืองครั้งนี้ ใช้ข้าวกาบดำ ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองที่นิยมปลูกกันมากในพื้นที่ตำบลปากแพรก ขนาบนาก ท่าพญา และจากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการและสารสำคัญ พบว่า มีสารอาหารสำคัญ อาทิ แมกนีเซียม โปตัสเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี สูง และมีปริมาณโซเดียมต่ำ อีกทั้งยังมีสารยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดี จึงได้นำข้าวกาบดำมาเป็นส่วนผสมในขนมพื้นบ้านที่ชุมชนรู้จักและมีกรรมวิธีในการแปรรูปที่ชุมชนสามารถทำได้ง่าย เพื่อเป็นโอกาสและช่องทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวพื้นเมืองและการส่งเสริมการบริโภคข้าวพื้นเมืองที่คุณค่าทางโภชนาการที่ส่งผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภคผ่านขนมพื้นบ้าน 4 ชนิดนี้ ที่ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างอาชีพและรายได้เสริมให้กับชุมชนต่อไป
กิจกรรมนี้จัดโดย
1) ชุดโครงการ การจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีงบประมาณ 2567
2) โครงการ วิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์พื้นเมือง เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ของเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สนับสนุนโดย สำนักงาน กปร. ปีงบประมาณ 2567