
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิจัย นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านไม้เศรษฐกิจของไทย ทั้งไม้ยางพารา ไม้ปาล์มน้ำมัน หรือไม้ไผ่ ด้วยการดำเนินงานภายใต้หลักคิด “ศึกษาไม้อย่างลึกซึ้ง ประยุกต์การใช้ไม้อย่างรู้ค่า เพื่อประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม”
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดพัทลุง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปริญญาโท M.Sc. (Physics Methods of Materials Characterisation) จาก University of Warwick ประเทศอังกฤษและระดับปริญญาเอก สาขา Materials Science & Metallurgy จาก University of Cambridge ประเทศอังกฤษ
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมวัสดุ ทั้งการวิเคราะห์และแปรรูปวัสดุไม้ โดยเฉพาะไม้ยางพารา ไม้ปาล์มน้ำมัน และไม้ไผ่ รวมถึงการป้องกันและรักษาเนื้อไม้และการนำไม้มาใช้ประโยชน์ โดยเป็นนักวิจัยที่ทุ่มเทเวลาในการพัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากไม้ปลูกเศรษฐกิจของไทย มีผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จริงในระดับอุตสาหกรรมไม้มามายกมาย เป็นนักประดิษฐ์ผู้ผลิตสิทธิบัตรด้านไม้ที่สำคัญที่โดยผลงานวิจัยได้จดสิทธิบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายชิ้น จึงเป็นนักวิจัยที่เป็นที่ยอมรับในวิจัยของประเทศไทยและต่างประเทศ
จุดเริ่มต้น/เส้นทางการเป็นนักวิจัย
รศ.ดร.นิรันดร มาแทน ได้เริ่มการศึกษาค้นคว้าด้านไม้หลังจากที่บรรจุเข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในตำแหน่งอาจารย์มาตั้งแต่ปี 2542 โดยได้ก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมไม้ขึ้นมา ปัจจุบันคือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศฯ ด้านไม้ ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตบัณฑิต อาจารย์ นักวิจัยให้กับประเทศของเรามาอย่างมากมาย ปัจจุบันศูนย์วิจัยแห่งนี้มีสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ มากมาย เป็นที่พึ่งของอุตสาหกรรมด้านไม้ของประเทศไทย มีการร่วมมือระหว่างประเทศในการวิจัยและพัฒนาในหลายองค์กรและมหาวิทยาลัยชั้นนำอีกด้วย
ผลงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน และทีมนักวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้แปรรูปที่ใช้งานได้จริงแบบครบวงจร โดยได้พัฒนาระบบต่างๆที่ใช้งานแล้วในอุตสาหกรรม ได้แก่
“StressWooD เครื่องวัดความเค้นในไม้” ช่วยแก้ปัญหาไม้แตกจากการอบไม้ ลดต้นทุนการผลิตทั้งด้านเวลาและพลังงาน ได้ไม้คุณภาพสูง และได้จดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิทธิบัตรฉบับแรกของ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครื่องวัดความเค้นในไม้แปรรูปความแม่นยำสูง ใช้ติดตามความเค้นในไม้ ในระหว่างการอบและหลังการอบได้ และสามารถประยุกต์ใช้กับไม้ได้ทุกชนิด ส่งผลให้โรงงานสามารถปรับปรุงกระบวนการอบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือแรกที่สามารถตรวจวัดความเค้นในไม้แปรรูปได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องทราบค่าโมดูลัสของไม้ ซึ่งเป็นค่าที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะการอบและสภาวะบรรยากาศที่ทำการเก็บไม้ เป็นค่าที่วัดได้ยากในโรงงานอุตสาหกรรม การที่สามารถวัดความเค้นในไม้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ทำให้สามารถปรับปรุงเทคนิคการอบ เทคนิคการคลายความเค้น และเทคนิคการเก็บไม้หลังการอบให้มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งจะทำให้ลดการสูญเสียและลดการใช้พลังงานในการแปรรูปไม้ลงได้
“DryWooD ระบบควบคุมการอบไม้อัตโนมัติ” เพื่อให้โรงงานสามารถควบคุมสภาวะการอบในเตาอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยควบคุมการอบไม้ยางพาราผ่านทางไมโครคอนโทลเลอร์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยระบบไร้สาย ระบบสามารถควบคุมการอบได้หลายเตาพร้อมๆ กัน ผู้ใช้สามารถตั้งโปรแกรมควบคุมการอบไม้ในรูปแบบต่างๆ ได้ โดยการควบคุมสามารถทำได้จากไมโครคอนโทลเลอร์ที่หน้าเตาอบหรือจากคอมพิวเตอร์ในห้องควบคุม ทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งระหว่างการอบได้หากการอบในขั้นตอนนั้นยังไม่เสร็จสิ้น ระบบมีหน่วยความจำสำรอง มีระบบเก็บข้อมูล ทำให้โรงงานสามารถพัฒนาเทคนิคการอบไม้ของตนเองได้ ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งระบบนี้ให้กับ 8 บริษัท
“ImPregWooD ระบบควบคุมความเข้มข้นน้ำยาอัดไม้แปรรูปอุตสาหกรรม” เป็นระบบที่สามารถควบคุมความเข้มข้นของน้ำยาอัดไม้ได้อย่างแม่นยำ เป็นการพัฒนาระบบออกแบบรูปแบบการเลื่อย ระบบควบคุมการอัดน้ำยา ระบบควบคุมการอบและเตาอบไม้ต้นแบบ สำหรับการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถควบคุมความเข้มข้นของน้ำยาโบรอนได้อย่างแม่นยำทุกรอบการอัดน้ำยา พร้อมมีโปรแกรมคำนวณ เพื่อแนะนำการผสมน้ำยารอบใหม่ เพื่อให้ได้ความเข้มข้นน้ำยาตามต้องการส่งผลให้บริษัทหรือผู้ประกอบการด้านไม้สามารถลดการใช้สารเคมีลง 100 กิโลกรัมต่อวัน ประหยัดเงินค่าสารเคมีได้ถึงปีละ 1.4 ล้านบาท ในขณะที่ยังคงรักษาคุณภาพความคงทนของไม้ยางพาราแปรรูปได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ปัจจุบันได้ทำการขยายผลติดตั้งระบบ ImPregWooD เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูปแล้วจำนวน 17 โรงงาน
“การค้นพบกระบวนการ Pre-treatment” เพื่อการอบไม้ปาล์มน้ำมันได้อย่างรวดเร็วโดยไม่แตกและไม่ยุบตัว สามารถนำต้นปาล์มน้ำมันเหลือทิ้งสู่อุตสาหกรรมไม้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก กระบวนการ Pre-treatment สามารถเปลี่ยนไม้ปาล์มน้ำมันซึ่งอบยากที่สุดในบรรดาไม้ทั้งหมดให้กลายเป็นไม้ที่อบได้ง่ายที่สุดได้ โดยที่คุณสมบัติต่างๆของไม้ไม่เสียไป ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สามารถแก้ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีลงได้ เทคนิคนี้สามารถใช้ได้กับลำต้นไม้สายพันธุ์ปาล์มชนิดอื่นๆ และสามารถผนวกเข้ากับกระบวนการผลิตไม้ยางพาราในโรงงานที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้วใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย พร้อมทั้งมีการขยายผล ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยให้กับบริษัท บุคคลผู้สนใจทั่วไป รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนภาครัฐ เพื่อให้นำไปขยายผลให้เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดของอุตสาหกรรมใหม่ จากเศษชีวมวลต้นปาล์มน้ำมันในวงกว้างต่อไป
“วิธีปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราโดยการต้มในน้ำร้อนภายใต้ความดัน” เป็นกรรมวิธีการผลิตเพื่อให้ได้ไม้ยางพาราที่มีความคงทนโดยปราศจากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นวัสดุไม้ในอนาคต โดยเฉพาะการใช้งานไม้สำหรับการก่อสร้าง ทั้งภายนอกและภายในอาคาร การใช้งานไม้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ของเล่นเด็ก เครื่องครัวไม้ที่สัมผัสอาหาร เป็นต้น ด้วยเทคนิคการต้มไม้ยางพาราในน้ำร้อนภายใต้ความดันในถังทนแรงดันสูง เป็นการปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราด้วยกรรมวิธีการให้ความร้อนแบบใหม่ โดยการต้มไม้ยางพาราที่อิ่มตัวหรือเกือบอิ่มตัวด้วยน้ำในน้ำภายใต้ความดัน ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนี้จะไม่ทำให้ไม้ยางพาราแตก จึงไม่จำเป็นต้องควบคุมการให้ความร้อน อีกทั้งทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างของเนื้อไม้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่อุณหภูมิต่ำลงและในระยะเวลาที่สั้นลง เมื่อเปรียบเทียบกับเทคนิคอื่น ๆ ของต่างประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการเผาไหม้ของไม้ระหว่างกระบวนการให้ความร้อน และผลงานวิจัย“การปรับปรุงความคงทนของไม้ยางพาราโดยการต้มในน้ำร้อนภายใต้ความดัน” ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 นับเป็นสิทธิบัตรฉบับที่ 2 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีกด้วย
นอกจจากนี้ยังมีระบบที่กำลังพัฒนาออกสู่อุตสาหกรรม เช่น MoistWooD ระบบตรวจวัดความชื้นในไม้ SawWooD ระบบวิเคราะห์หน้าไม้ซุง นวัตกรรมไม้แชนวิชที่ใช้ไม้ปาล์มน้ำมันเป็นไส้ ผนังไม้ที่มีโฟมยางเป็นฉนวนความร้อน รวมทั้งการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและพนักงานในอุตสาหกรรมไม้ยางพาราทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ทั้งนี้จากผลงาน DryWooD: ระบบควบคุมการอบไม้อัตโนมัติ และ “StressWooD Meter: เครื่องวัดความเค้นในไม้แปรรูปอุตสาหกรรมความแม่นยำสูง” ทำให้ รศ.ดร.นิรันดร มาแทนและทีมงาน ได้รับรางวัลผลงาน ประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2565 รางวัลระดับดี จำนวน 2 รางวัล จากศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บนเวทีงาน“วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 - 2565 (Thailand Inventor’s Day 2021 & 2022) ครั้งที่ 23 ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติจัดขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทย ที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
ผลงานวิจัยเด่น
รศ.ดร.นิรันดร มาแทนและทีมงาน ได้ค้นพบกระบวนการ Pre-treatment เพื่อการอบไม้ปาล์มน้ำมันได้อย่างรวดเร็วโดยไม่แตกและไม่ยุบตัว ซึ่งการค้นพบกระบวนการ Pre-treatment ที่สามารถเปลี่ยนไม้ปาล์มน้ำมันซึ่งอบยากที่สุดในบรรดาไม้ทั้งหมดให้กลายเป็นไม้ที่อบได้ง่ายที่สุดได้ โดยที่คุณสมบัติต่างๆของไม้ไม่เสียไป ถือเป็นนวัตกรรมใหม่สามารถแก้ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีลงได้ เทคนิคนี้สามารถใช้ได้กับลำต้นไม้สายพันธุ์ปาล์มชนิดอื่นๆและสามารถผนวกเข้ากับกระบวนการผลิตไม้ยางพาราในโรงงานที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่ โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้วใน 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย พร้อมทั้งมีการขยายผล ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัยให้กับบริษัท บุคคลผู้สนใจทั่วไป รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนภาครัฐ เพื่อให้นำไปขยายผลให้เป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดของอุตสาหกรรมใหม่ จากเศษชีวมวลต้นปาล์มน้ำมันในวงกว้างต่อไป
นอกจากนี้ รศ.ดร.นิรันดร มาทัน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รับรางวัลผลงานวิจัยแห่งชาติ 2 รางวัล ประเภทรางวัลสิ่งประดิษฐ์ ประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับดี โดยมี ศ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้มอบรางวัล เนื่องในโอกาสวันนักประดิษฐ์ ครั้งที่ 23 ประจำปี 2564-2565 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อเชิดชูนักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่นและสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร.นิรันดร มาแทน มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานชาติที่เกี่ยวข้องกับไม้และวัสดุชีวภาพกว่า 70 เรื่องในฐานข้อมูล Scopus โดยได้รับการอ้างอิงจากบทความวิจัยทั่วโลกกว่า 1,518 บทความ จึงทำให้เป็นนักวิจัยที่มี H-index สูงถึง 21 โดยผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ดังกล่าวมาจากการผลิตบัณฑิตปริญญาโทและปริญญาเอกมากมาย
รางวัลอื่นๆที่ได้รับ
- รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปี 2561 คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านพาณิชย์ ประจำปี 2559 จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องการพัฒนาระบบออกแบบรูปแบบการเลื่อย ระบบควบคุมการอัดน้ำยา ระบบควบคุมการอบและเตาอบไม้ต้นแบบสำหรับการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม
- ผลงานวิจัยดีเด่นจาก โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ประจำปี 2557 เรื่องแผ่นไม่แซนวิสน้ำหนักเบาโดยใช้ไม้ปาล์มน้ำมันเป็นไส้
และรองศาสตราจารย์ ดร. นิรันดร มาแทน ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประจำปี 2559 ได้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2559 ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 อีกด้วย