Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

“วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล” เดินหน้า! ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบมหาลัยอย่างยั่งยืน

อัพเดท : 28/05/2568

153

          เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดยทีมอาจารย์จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ พร้อมคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่หารือร่วมกับรพ.สต.ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา เพื่อขับเคลื่อน “วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล” สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งสร้างสุขภาวะอย่างครอบคลุมและยังยืน ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ทางสุขภาพสู่ชุมชนท้องถิ่นโดยตรง

          คณาจารย์ผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงทิพย์ ภู่พงษ์ รองศาสตราจารย์ ดร.นิธิตา ปิยอมรพันธุ์ จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรัตถากรณ์ สังข์แก้ว จากสำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ พร้อมคณะทำงานจากศูนย์บริการวิชาการ ได้ร่วมประชุมกับ นายสมโชค นงค์นวล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการวิชาการรับใช้สังคมในมิติสุขภาพ

           ชุดโครงการวลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย” มีเป้าหมายหลักในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ป่วย NCDs และเป็นแกนนำอสม. กลุ่มคนด้อยโอกาสที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มชุมชนผู้ลี้ภัย/อพยพ/แรงงานต่างด้าว

           ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แต่ยังเป็นการแสดงบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนสังคม ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสุขภาพในรูปแบบที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 “สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” และเป้าหมายที่ 17 “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” รวมถึงสอดรับกับ “WU HAPPY TREE” ด้านสุขภาพ และเกณฑ์ UI GreenMetric World University Rankings (ED5) อีกด้วย

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนรอบมหาวิทยาลัย พร้อมส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างแท้จริง

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/33800