
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยคณาจารย์จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ ลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับครูผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอน กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการนอกห้องเรียน และบริบทของชุมชนในพื้นที่
การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สลิลา เศรษฐไกรกุล รักษาการแทนผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการรับใช้สังคมและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ร่วมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณิศา คุ้มบ้าน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรพัฒน์ นาวารัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ พร้อมทีมงานจากศูนย์บริการวิชาการ
คณะทำงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับครูผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสองแห่ง พร้อมทั้งสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอน กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการนอกห้องเรียน และบริบทของชุมชนในพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพัฒนากิจกรรมและหลักสูตรที่เหมาะสมต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในบริบทชุมชน
การลงพื้นที่ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้กิจกรรมย่อยที่ 7 “กายภาพบำบัดเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเคลื่อนไหวในเด็กเล็กชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการ “วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล: ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน” ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย โดยครอบคลุมกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงกลุ่มชุมชนผู้ลี้ภัย/แรงงานต่างด้าว/ผู้อพยพ
การดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่เพียงมุ่งตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น หากยังสะท้อนบทบาทเชิงรุกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 “สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” เป้าหมายที่ 17 “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” และแนวคิด “WU HAPPY TREE” ด้านสุขภาพ รวมถึงเกณฑ์ UI GreenMetric World University Rankings (ED5) อีกด้วย
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบมหาวิทยาลัย เพื่อส่งต่อสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนสู่ชุมชนในทุกมิติ