
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยคณาจารย์สหวิชาชีพด้านสุขภาพ และทีมงานศูนย์บริการวิชาการด้านมิติสุขภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ณ เทศบาลตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้ชุดโครงการ “วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย” โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้สูงอายุจำนวน 79 คน
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ (สาขากายภาพบำบัด) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงทิพย์ ภู่พงษ์ (สาขาเทคนิคการแพทย์) และอาจารย์ ดร.วันทนีย์ โยชน์ชัยสาร (สาขากายภาพบำบัด) จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ร่วมกับ อาจารย์พิริยา ชนสุต และผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรัตถากรณ์ สังข์แก้ว จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ณ เทศบาลตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ออกแบบให้สอดคล้องกับศาสตร์ด้านสุขภาพหลากหลายแขนง รวมทั้งสิ้น 7 กิจกรรม เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่หลากหลาย ครอบคลุม และสามารถนำไปปรับใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้สู่ครอบครัวและชุมชนต่อไป ซึ่งรายละเอียดแต่ละกิจกรรมมีดังต่อไปนี้
กิจกรรมที่ 1: ตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น
เริ่มต้นด้วยการวัดความดันโลหิตและสัญญาณชีพโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ เพื่อประเมินความพร้อมของผู้สูงอายุก่อนเข้าร่วมกิจกรรมหลัก อีกทั้งยังเป็นการฝึกทักษะภาคปฏิบัติให้แก่นักศึกษาในการดูแลประชาชนในพื้นที่จริง
กิจกรรมที่ 2: คืนข้อมูลสุขภาพและให้ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงทิพย์ ภู่พงษ์ ได้นำเสนอผลการตรวจสุขภาพจากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 โดยสรุปผลการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ผลตรวจองค์ประกอบทางเคมีในปัสสาวะ การตรวจเลือดปลายนิ้วเพื่อคัดกรองภาวะซีดและเบาหวาน การประเมินภาวะสมองเสื่อม และการตรวจหาโปรตีน Transferin ในอุจจาระ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางป้องกันและการดูแลสุขภาพจากภาวะที่พบ
กิจกรรมที่ 3: เสริมความรู้เรื่องภาวะกล้ามเนื้อน้อย
อาจารย์ ดร.วันทนีย์ โยชน์ชัยสาร นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ซึ่งเป็นปัญหาพบบ่อยในผู้สูงอายุ พร้อมสอนวิธีตรวจประเมินกล้ามเนื้ออย่างง่ายให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำไปใช้สังเกตสุขภาพตนเองได้ที่บ้าน
กิจกรรมที่ 4: เกมเสริมความรู้สุขภาพ “รู้ทัน ป้องกันโรค”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ ได้ออกแบบกิจกรรม Edugame ในรูปแบบเกมตอบคำถาม 10 ข้อ ภายใต้หัวข้อ “รู้ทัน ป้องกันโรค” เพื่อกระตุ้นความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุให้เรียนรู้เรื่องสุขภาพอย่างสนุกสนาน ในระหว่างกิจกรรมเกม อาจารย์พิริยา ชนสุต และผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรัตถากรณ์ สังข์แก้ว จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้จัดเตรียมและแจกชาสมุนไพรจากดอกดาหลาแก่ผู้ร่วมกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการบริโภคสมุนไพรในชีวิตประจำวัน ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
กิจกรรมที่ 5: ประเมินสมรรถภาพหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ ได้ดำเนินการทดสอบความทนทานของหัวใจผู้สูงอายุผ่านการออกกำลังกายแบบ Marching โดยมีนักศึกษาคอยดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดการประเมินเพื่อให้ผู้สูงอายุนำเทคนิคที่ถูกต้องไปใช้ที่บ้าน
กิจกรรมที่ 6: การนวดผ่อนคลายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
หลังการทดสอบทางกายภาพ ผู้สูงอายุได้รับการนวดผ่อนคลายจากทีมแพทย์แผนไทย พร้อมการสาธิตและฝึกปฏิบัติการยืดเหยียดกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ โดยนักศึกษาสหเวชศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนไหวอย่างปลอดภัยในชีวิตประจำวันและผ่อนคลายกล้ามเนื้อจากอาการเมื่อยล้า
กิจกรรมที่ 7: ปิดท้ายด้วยแอโรบิกเพื่อสุขภาพ
กิจกรรมสุดท้ายเป็นการเต้นแอโรบิกอย่างเบา ๆ โดยมีนักศึกษาเป็นผู้นำกิจกรรม เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบหัวใจ กล้ามเนื้อ และเสริมสร้างความสนุกสนานให้กับผู้สูงวัย
โอกาสนี้ได้รับเกียรติจากนายอยุทธ์ เชาวลิต นายกเทศมนตรีตำบลท่าศาลา พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาล เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพบปะ พูดคุย และแนะนำตัวกับผู้สูงอายุที่เข้าร่วมกิจกรรม คณาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนบุคลากรจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยได้กล่าวแสดงความยินดีที่โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมแสดงความตั้งใจที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาในการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
การดำเนินงานครั้งนี้สะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนพันธกิจด้านวิชาการรับใช้สังคม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญแบบสหสาขาวิชาจากกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ต่อยอดสู่การให้บริการที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ต่อไป กิจกรรมนี้จัดขึ้นภายใต้ชุดโครงการวลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย” มีเป้าหมายหลักในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้ป่วย NCDs และเป็นแกนนำอสม. กลุ่มคนด้อยโอกาสที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มชุมชนผู้ลี้ภัย/อพยพ/แรงงานต่างด้าว ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ดังนี้
กิจกรรมย่อย 1 การสร้างเสริมและฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยศาสตร์กายภาพบำบัดพื้นที่ชุมชนรายรอบ อำเภอท่าศาลา
กิจกรรมย่อย 2 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์
กิจกรรมย่อย 5 ชุมชนท่าศาลาต้นแบบสุขภาวะ มวล.
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ แต่ยังเป็นการแสดงบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนสังคม ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสุขภาพในรูปแบบที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 “สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” และเป้าหมายที่ 17 “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” รวมถึงสอดรับกับ “WU HAPPY TREE” ด้านสุขภาพ และเกณฑ์ UI GreenMetric World University Rankings (ED5) อีกด้วย