Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ประเมินทักษะ EF และพัฒนาการเคลื่อนไหวเด็กเล็ก ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย

อัพเดท : 14/07/2568

27

          ระหว่างวันที่ 26 – 27 มิถุนายน 2568 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ ดร.พงศ์พันธุ์  คำพรรณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิพรรณ ธีรพงศ์ อาจารย์นุฎชฎา ภัทรพฤฒานนท์ พร้อมด้วยแกนนำนักศึกษาเอกการศึกษาปฐมวัย จากสำนักวิชาศึกษาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณิศา คุ้มบ้าน สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการ ได้ร่วมกันลงพื้นที่จัดกิจกรรมเพื่อประเมินทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Functions: EF) และพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวในเด็กปฐมวัย ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโคกเหล็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

          กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมศักยภาพของเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการข้ามสาขาวิชา ทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ  เพื่อวางรากฐานสุขภาวะที่ยั่งยืนแก่เด็กและครอบครัวในชุมชน อันเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัย

          การดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากองค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรี โดยคุณสุวิชานันท์ สุขสบาย ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณะครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสองแห่ง ร่วมสนับสนุนกิจกรรมและการประเมินอย่างเต็มที่ ตอกย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนอย่างแท้จริง

          กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมย่อยภายใต้ 2 ชุดโครงการหลัก ได้แก่ กิจกรรมย่อยที่ 1 “การยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของเด็กปฐมวัยด้วยหลักสูตร High Scope ปีที่ 5” ภายใต้ชุดโครงการ “บูรณาการสหสาขาเพื่อการศึกษาสู่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน” และกิจกรรมย่อยที่ 7 “กายภาพบำบัดเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเคลื่อนไหวในเด็กเล็ก” ภายใต้ชุดโครงการ “วลัยลักษณ์สุขภาพโมเดล : ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต สร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน พื้นที่ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย”

          ทั้งนี้ การดำเนินการกิจกรรมทั้งสองชุดโครงการสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  เป้าหมายที่ 4: “การศึกษาที่มีคุณภาพ” เป้าหมายที่ 3 “สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” และเป้าหมายที่ 17 “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนแนวทาง “WU HAPPY TREE” ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพ และเกณฑ์การประเมินของ UI GreenMetric World University Rankings (ED5) ที่ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับมหาวิทยาลัย อีกด้วย

  

รายละเอียดเพิ่มเติม : https://cas.wu.ac.th/archives/34766