Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน : งานวิจัยเชิงลึกด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยกับความปลอดภัยของอาหารและบรรจุภัณฑ์

อัพเดท : 20/08/2567

951

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ อาจารย์นักวิจัยผู้ที่มีใจรักในศาสตร์ของน้ำมันหอมระเหยเป็นอย่างยิ่ง ได้ค้นคว้าพัฒนาองค์ความรู้ในศาสตร์ด้านน้ำมันหอมระเหยอย่างจริงจังและต่อเนื่องมากว่า 30 ปี สร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพในด้านนี้ให้กับประเทศมาแล้วเป็นจำนวนมาก

ประวัติการศึกษา
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จุดเริ่มต้น/เส้นทางการเป็นนักวิจัย
หลังจากสำเร็จการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อปี พ.ศ.2542 และได้ค้นพบว่าที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และชุมชนรายรอบที่มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร วัตถุดิบทางการเกษตร ที่ต้องการความช่วยเหลือทางด้านอาหารปลอดภัยและการยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร จึงได้ตั้งห้องปฏิบัติการขึ้นและเริ่มหาทีมงานพร้อมทุนวิจัย โดยในขณะนั้นได้นำความรู้ด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยที่สะสมองค์ความรู้เชิงลึกมาประยุกต์ใช้ถนอมวัตถุดิบทางการเกษตร สร้างบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถขนส่งวัตถุดิบทางการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ให้สามารถขนส่งทางไกลได้มากขึ้น ทั้งนี้ได้เล็งเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากศาสตร์ด้านน้ำมันหอมระเหยจำเป็นต้องมีการสร้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยทางด้านนี้ขึ้นมาเพื่อให้ทันต่อความ

ต้องการในการคิดค้นและการพัฒนาประเทศในการถนอมอาหารโดยใช้สารธรรมชาติ จากเส้นทางการทำวิจัยยาวนานมานานถึง 30 ปี ปัจจุบันอาจารย์ได้ผลิตนักวิจัยที่สามารถสร้างผลงานนวัตกรรมด้านนี้และสะสมองค์ความรู้ให้เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านนี้ได้ โดยได้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบัน คือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตนักวิจัยและผลิตนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกมาแล้วมากมาย 

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เล่าว่า คุณสมบัติที่น่าทึ่งอย่างหนึ่งของน้ำมันหอมระเหย นอกจากจะให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ แล้ว ไอของน้ำมันหอมระเหยหลายชนิดยังออกฤทธิ์เป็นสารป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและยีสต์ได้ โดยเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคกับมนุษย์ที่มักพบปนเปื้อนในอาหาร ดังนั้น ทีมนักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ จึงทำวิจัยเพื่อคิดค้นสูตรน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ถนอมอาหาร โดยพบว่าน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น น้ำมันหอมระเหยจากดอกจำปี ตะไคร้ต้น และกานพลู เป็นต้น มีฤทธิ์ต้านทานเชื้อจุลินทรีย์ที่สำคัญในอาหารได้ดีมาก จนนำไปสู่การพัฒนาสูตรน้ำมันหอมระเหยต่าง ๆ ในห้องปฏิบัติการฯ เพื่อให้สามารถใช้ถนอมอาหารได้จริงกว่า 20 สูตร อีกทั้งน้ำมันหอมระเหยบางสูตรยังสามารถนำมาสร้างฟิล์มนาโนเพื่อเคลือบผลไม้ เคลือบผิวหน้าของวัสดุเซลลูโลส ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการสร้างผลิตภัณฑ์อาหาร บรรจุภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการถนอมวัตถุดิบทางการเกษตร รวมถึงวัสดุเศษเหลือ เพื่อให้นำมาใช้ประโยชน์ได้ก่อนที่จะย่อยสลายไป 
 


 

ผลงานที่โดดเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เล่าต่อว่า เนื่องจาก 30 ปีที่ผ่านมาเราศึกษาฤทธิ์ของไอน้ำมันหอมระเหย และตัวน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติเพื่อประยุกต์ใช้ในการยืดอายุและรักษาเชื้อราในรูปแบบที่ถ่ายทอดเข้าไปในบรรจุภัณฑ์ เพราะฉะนั้นองค์ความรู้เหล่านี้ สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น การพัฒนาสูตรน้ำมันหอมระเหยที่มีความหอมยาวนานและสามารถป้องกันการเติบโตของเชื้อราและไล่แมลงให้กับผลิตภัณฑ์กระจูดของผู้ประกอบการที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้สมารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้นถึง 2.5 เท่า นับเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจจากการพัฒนาสูตรน้ำมันหอมระเหย

และงานวิจัยข้าวกล้องหอม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่สารอาหารสูงมาก เช่น ข้าวกล้องพันธ์ุท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เนื่องจากมีลักษณะที่เสียง่าย ทางทีมนักวิจัยจึงได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีฤทธิ์ต้านการเติบโตของเชื้อรา และบรรจุภัณฑ์นี้ยังสามารถป้องกัน ปลวก มอด แมลง และไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ที่ขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียว ทีมวิจัยยังสามารถประยุกต์ใช้วิธีการนี้เพื่อควบคุมระดับไซโลข้าวในสเกลที่ชุมชนนำไปใช้งานได้จริง จากการศึกษาวิจัยองค์ความรู้เรื่องนี้ทำให้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2558 จาก สกอ.อีกด้วย
     
ตัวของน้ำมันหอมระเหย ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับผลไม้หลากหลายชนิด เพื่อช่วยในการชะลอการเสื่อมเสียของผลไม้ในระหว่างการส่งออก ป้องกันเชื้อรา เสริมกลิ่น รส ของผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีเปลือกและมีกลิ่นเฉพาะตัว โดยตัวของน้ำมันหอมระเหยจะออกฤทธิ์ในการเสริมรสชาติและกระตุ้นต่อมใต้สมองให้ผลิตสารที่ทำให้รู้สึกสงบและมีความสุขในการรับประทานมากขึ้น ทั้งนี้การประยุกต์ใช้กับผลไม้ท้องถิ่นโดยเฉพาะมังคุดให้ผลในการยืดอายุการเก็บรักษามังคุดได้ดีและช่วยถนอมมังคุดให้สดได้นานขึ้นอีกด้วย 

ภาพผลงานวิจัยในการพัฒนาสูตรน้ำมันหอมระเหยสำหรับถนอมอาหารและใช้กับบรรจุภัณฑ์ขนส่งวัตถุดิบทางการเกษตร

การใช้ประโยชน์จากฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยอีกอย่าง คือ การพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้โดยมีน้ำมันหอมระเหยเป็นสารออกฤทธิ์ เช่น ถาดบรรจุไข่ ถุงข้าวหอมป้องกันเชื้อรา ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และชุมชนเกษตรเป็นอย่างมาก จึงอาจกล่าวในเบื้องต้นได้ว่า น้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมมากในการนำมาใช้เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ 

รศ.ดร.นฤมล มาแทน เป็นนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องจากแหล่งทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ทั้งยังมีการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีนักศึกษาบัณฑิตศึกษาที่ทำวิจัยในห้องปฏิบัติการฯ แห่งนี้ โดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทุกคนล้วนได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งทุนสำคัญของประเทศ เช่น ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก) ทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และทุนบัณฑิตศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น

   
ภาพการร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยสำหรับขึ้นทะเบียนให้ได้ตรารับรองสินค้า

ผลกระทบของงานวิจัยต่อสังคมในด้านต่าง ๆ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ : ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน และทีมนักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมน้ำมันหอมระเหยและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ มีผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารและบรรจุภัณฑ์ ยืดอายุการเก็บรักษา ถนอมอาหารให้สดใหม่ยาวนานขึ้นตลอดระยะเวลาของการขนส่ง และการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ 

ผลกระทบต่อการศึกษาและวิชาการ : รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาระดับปริญญโทและปริญญาเอกมาแล้วมากกว่า 20 คนและลูกศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาไป ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพช่วยต่อยอดและสร้างนักวิจัยทางด้านนี้ให้กับประเทศได้อย่างยอดเยี่ยม โดยผลงานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้มาจากการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในห้องปฏิบัติการฯ โดยเน้นการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยสูตรต่าง ๆ และการประยุกต์ใช้งานน้ำมันหอมระเหยเพื่อให้ออกฤทธิ์ในการถนอมอาหารทุกรูปแบบ 

   

  

ภาพการร่วมมือสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อพัฒนานักวิจัยและนักศึกษาบัณฑิตศึกษา 

ผลงานด้านเครือข่ายต่างประเทศและวารสารวิชาการนานาชาติ

รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล มาแทน เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ (เฉพาะ Scopus) กว่า 71 ฉบับ มีการอ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกว่า 1,174 บทความ ทำให้มีค่า H-index สูงถึง 20  และในฐานข้อมูลอื่น ๆ มีผลงานที่ได้รับการอ้างอิงกว่า 2,529 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายงานวิจัยระหว่างประเทศกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอีกหลายแห่ง อาทิ  Massey University ประเทศนิวซีแลนด์ University of Milan ประเทศอิตาลี Rutgers University ประเทศแคนาดา และ  Ottawa University ประเทศแคนาดา โดยได้มีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนนักวิจัย แลกเปลี่ยนนักศึกษา เพื่อทำวิจัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นผู้จัดงานประชุมวิชาการและวิทยากรรับเชิญในการจัดประชุมวิชาระดับนานาชาติที่จัดขึ้นในประเทศไทยและต่างประเทศมากมาย 

  

ภาพรางวัลเด่นที่ได้รับในระดับชาติและระดับนานาชาติ 

รางวัล/ทุนที่ได้รับ

รศ.ดร.นฤมล มาแทน ได้รับรางวัลด้านการวิจัยมากมายกว่า 20 รางวัล จากองค์กรชั้นนำด้านการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้รับการยอมรับในฐานนะนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานสร้างสรรค์ด้านการผลิตนวัตกรรมสำหรับความปลอดภัยในอาหารและบรรจุภัณฑ์ โดยรางวัลโดดเด่นที่ได้รับในเวทีประกวดนวัตกรรมระดับโลกคือ ผลงานการคิดค้น “การพัฒนาไม้ยางพาราให้มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหยเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ปราศจากเชื้อรา” โดยได้รับรางวัล ITEX Gold Medal for the invention จาก : The 26th International Invention, Innovation & Technology Exhibition ITEX2015 ประเทศมาเลเซีย รางวัลพิเศษจาก Association “Russian House for International Scientific and Technology Cooperation) และ Special Award เป็นรางวัลพิเศษจากสมาคมสิ่งประดิษฐ์และทรัพย์สินทางปัญญาโลกประเทศไต้หวัน

นอกจากนี้ รศ.ดร.นฤมล มาแทน ยังได้รับ รางวัลเชิดชูเกียรติทางด้านงานวิจัยในระดับชาติมากมาย อาทิ รางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยมแห่งปี ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และรางวัลนักวิจัยดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ประจำปี 2555 นอกจากนั้น รศ.ดร.นฤมล มาแทน เป็นอาจารย์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปี พ.ศ. 2558 โดยได้เข้ารับการพระราชานทานโล่ประกาศเกียรติคุณในวันพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา 2558 ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2559 อีกด้วย 

หลักคิดการทำงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล กล่าวว่า “การทำงานทุกอย่างด้วยใจรัก จะทำให้เรามีความสุขมาก การทำผลงานวิจัยต้องมีทีมงาน ทำให้เห็นว่ารางวัลที่ได้มาทุกชิ้นเป็นผลงานที่มีคุณภาพ แต่เบื้องหลังความสำเร็จของรางวัลที่ได้มาทุกชิ้น คือทีมงานนักวิจัยทุกคน เพราะฉะนั้น การทำงานให้ประสบความสำเร็จ ความรัก ความสามัคคีและทีมงานที่มีคุณภาพจึงสำคัญมาก อาจารย์จึงให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างทีมงานเป็นอย่างยิ่ง 
นอกจากนั้นอาจารย์ยังเล่าว่า การที่เราเป็นคนคิดบวกทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้มากมาย เหมือนการทดลองที่เราทำแล้วยังมีชุดทดลองที่ยังหาคำตอบไม่ได้ หากเราล้มเลิก คำตอบนั้นๆก็จะไม่ถูกค้นพบ แต่หากเราเรียนรู้ คิดนำสิ่งที่ล้มเหลวมาก่อน มาต่อยอดคิดพัฒนาว่า ทำอย่างไรให้จุดที่ยังไม่ได้แก้ไข ถูกแก้ไข หากเรามีความคิดบวกกับทุกอย่างรอบตัวอย่างเหมาะสม การส่งพลังความคิดที่ดีออกไป นอกจากจะเป็นการสร้างกำลังใจให้กับตัวเราเองแล้ว ความคิดบวกยังส่งต่อไปยังผลงานทางด้านการเรียนการสอนและการสร้างนักวิจัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ต่อๆ กันไปอีกด้วย”

 

เรียบเรียงโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร