
รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สาขาเกษตรศาสตร์และนวัตกรรม หัวหน้าศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC นครศรีธรรมราช) ที่ปรึกษา บริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด และที่ปรึกษา บริษัท วลัยไตรโคพลัส จำกัด
อีกหนึ่งนักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ศึกษาค้นคว้าสายพันธุ์เชื้อราปฏิปักษ์ที่มีคุณสมบัติในการแก้ปัญหาศัตรูพืชให้กับเกษตรกร จนสามารถยกระดับเป็น “นวัตกรรมชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส” ที่มีเกษตรกรผู้ใช้งานทั่วประเทศกว่า 67,000 ราย และได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนนาส่วงวิทยา มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนวิจิตราพิทยา จังหวัดอุบลราชธานี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ในการสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอก (วปก.) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.)
เส้นทาง/จุดเริ่มต้นการเป็นนักวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เล่าว่า ตนเองเป็นลูกหลานเกษตรกร จึงเข้าใจผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและเห็นว่าเกษตรกรมีบทบาทสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งตนเองมีประสบการณ์ทั้งการสอนและการวิจัยด้านการเกษตร และการลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ทราบว่าเกษตรกรในประเทศไทย 8.6 ล้านครัวเรือน ประสบปัญหาเรื่องความยั่งยืนและความมั่นคงในอาชีพ ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง ราคาผลผลิตตกต่ำ ได้ผลผลิตน้อย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากและอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว และผู้บริโภคยังได้รับผลกระทบจากอาหารที่ไม่ปลอดภัยอีกด้วย โดยพบว่า 96.73% ของผลผลิตทางการเกษตรปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค ตนเองในฐานะนักวิจัย หรือนักวิชาการ มีความต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้ จากการค้นพบเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ใหม่ (NST-009) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงพัฒนาเป็นนวัตกรรมเพื่อมาแก้ปัญหาและตอบโจทย์ให้กับเกษตรกรได้ จึงเป็นที่มาในการคิดค้นชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัสขึ้น
ขั้นตอน/กระบวนการวิจัย
สำหรับกระบวนการวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เล่าว่า เราเริ่มต้นด้วยการค้นหาเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์หรือเชื้อจุลินทรีย์ตัวที่ดีทั่วประเทศไทยรวมทั้งภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของเรา จนได้ค้นพบตัวเชื้อรา "ไตรโคเดอร์มา" สายพันธุ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ "Trichoderma asperellum สายพันธุ์ NST-009" ซึ่งเชื้อราสายพันธุ์นี้ แยกได้จากรากเฟิร์นมหาสดำบนเทือกเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช และผ่านการคัดเลือกจากกว่า 3,000 สายพันธุ์ทั่วประเทศ มีประสิทธิภาพสูงมากในการควบคุมโรคพืช และมีความทนทานต่อสารเคมี โดยมีกลไกทำลายเชื้อราโรคพืชด้วยการกินเชื้อราโรคพืชเป็นอาหาร สร้างสารปฏิชีวนะและเอนไซม์ได้หลายชนิด ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และชักนำให้ต้นพืชสร้างภูมิคุ้มกันได้ รวมทั้ง เชื้อราเมธาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอร์เรีย ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถควบคุมโรคพืช ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้เช่นกัน จากนั้น จึงคัดเลือกเชื้อราตัวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและพัฒนาต่อยอดจนเชื้อราทั้ง 3 ตัวมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคพืช กำจัดศัตรูพืชเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยในขณะนี้
ผลงานวิจัยเด่น
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน เล่าต่อว่า จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่การใช้งานชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราเมธาไรเซียม และเชื้อราบิวเวอร์เรียแบบแยกชนิดกัน พบว่าเกษตรกรใช้งานไม่สะดวกและมีต้นทุนสูง จึงได้คิดค้นจนกระทั่งพบว่าเชื้อราทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถนำมารวมกันได้ กลายเป็นสุดยอดชีวภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า “ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส” เป็นการเพิ่มคุณภาพของเชื้อราและอีกอย่างที่ไม่เหมือนใคร คือการใส่ธาตุอาหารแคลเซียม แมกนีเซียมและสารเสริมประสิทธิภาพเข้าไปในชีวภัณฑ์ชนิดนี้ ทำให้เชื้อรามีความแข็งแรงและเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นพืช ทำให้ต้นพืชสามารถต่อสู้กับศัตรูพืชต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของชีวภัณฑ์จากเชื้อราปฏิปักษ์ทั้ง 3 สายพันธุ์ดังกล่าว ปัจจุบันได้มีการพัฒนาขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบผง น้ำ เม็ด และชนิดบาธบอม เพื่อความสะดวกต่อการใช้งานของเกษตรกร
การใช้ประโยชน์
ปัจจุบันชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรทั้งภายในและต่างประเทศ ว่าเป็นชีวภัณฑ์ที่สามารถกำจัดศัตรูพืชได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วประเทศกว่า 67,864 ราย หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา 67 องค์กร และภาคเอกชนจำนวน 34 บริษัท แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ซื้อสิทธิ/ตัวแทนขาย 18 บริษัท เช่น บริษัททีเอบี อินโนเวชั่น, บริษัทบีไบโอ จำกัด, บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ โปรติ้วส์ จำกัด และบริษัทโซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กลุ่มที่ 2 นำไปใช้เอง 15 บริษัท เช่น บริษัทซีพีไอ อะโกรเทค และบริษัทแสงสวรรค์ปาล์มน้ำมันฯ และกลุ่มที่ 3 สนับสนุนทุน 1 บริษัท ได้แก่ มูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ (เครือเซ็นทรัล) และความร่วมมือกับต่างประเทศอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, อินเดีย, เวียดนาม, พม่า, กัมพูชา และลาว สร้างรายได้ในการบริการวิชาการในนามศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร ถึง 16 ล้านบาท และการบูรณาการด้านการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
ผลกระทบของงานวิจัยในด้านต่าง ๆ
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (>177,364,752.84 บาท)
ผลกระทบด้านสังคม/ชุมชน
ผลกระทบด้านสภาพแวดล้อม (BCGs)
ผลกระทบด้านการศึกษาและวิชาการ
ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (ย้อนหลัง 3 ปี)
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติมากกว่า 67 เรื่อง ที่รองรับประสิทธิภาพของเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส อาทิ
รางวัลที่ได้รับ
รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน ได้รับรางวัลทั้งระดับชาติและนานาชาติมากจำนวน 28 รางวัล อาทิ
หลักคิดในการทำวิจัย
“การเป็นนักวิจัยถือเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต เราจึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร สำหรับผมการมีโอกาสได้เป็นนักวิจัย เราจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติให้ได้มากที่สุด ฉะนั้นเราต้องขยัน อดทน และมีวิสัยทัศน์แห่งอนาคตเพื่อพัฒนางานวิจัยของเราให้สามารถนำไปเผยแพร่แก่สังคมที่ต้องการความช่วยเหลือให้ได้ เพื่อสุดท้ายแล้วประเทศชาติของเราจะมีความมั่นคง ยั่งยืนต่อไปได้ ส่วนเป้าหมายในอนาคต คือ การลดต้นทุนในการผลิตชีวภัณฑ์ให้ต่ำลง เพื่อลดภาระและช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ใช้ชีวภัณฑ์ที่มีราคาถูก มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงที่สุด” รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน กล่าวในตอนท้าย
เรียบเรียงโดย ชลธิชา ลิมปิติ ส่วนสื่อสารองค์กร