Location

0 7567 3000

แนะนำนักวิจัยเด่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

อัพเดท : 26/05/2568

190

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระดับปริญญาโท สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สาขาและความเชี่ยวชาญ

รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ มีความเชี่ยวชาญทางด้านอายุรศาสตร์เขตร้อน (Tropical Medicine)

จุดเริ่มต้น/เส้นทางการทำวิจัย

ด้วยความสนใจในโรคเขตร้อน รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชาติ พันธ์สวัสดิ์ จึงเลือกศึกษาระดับปริญญาเอก ณ ภาควิชาพยาธิวิทยาเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยทำวิจัยด้านพยาธิสภาพและพยาธิกำเนิดของภาวะมาลาเรียขึ้นสมองในผู้ป่วยมาลาเรีย ภายใต้การดูแลของ ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงพรรณเพ็ญ วิริยเวชกุล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเชี่ยวชาญด้านพยาธิสภาพของโรคมาลาเรีย ต่อมาได้เข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสานต่องานวิจัยด้านภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อมาลาเรียชนิด Plasmodium falciparum หรือ พีเอฟ (P.f.) ได้แก่ ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ภาวะไตวายเฉียบพลัน และภาวะมาลาเรียขึ้นสมองในหนูทดลอง เพื่อศึกษากลไกการเกิดโรคและค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับการรักษาและการพยากรณ์โรค

จากแนวโน้มการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียที่เพิ่มสูงขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่ส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทย จึงได้ร่วมมือกับรองศาสตราจารย์ ดร.ประภาพร จันทร์เอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยา พัฒนาโครงการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียของสมุนไพรไทย โดยเน้นการค้นหาพืชสมุนไพร ตำรับยา และสารบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียและมีความปลอดภัยสูง ทั้งในระดับหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และการศึกษาด้วยเทคนิค molecular docking ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และทุน Fundamental Fund พร้อมทั้งพัฒนาตำรับยาทางเลือกเพื่อรองรับปัญหาเชื้อดื้อยาและต่อยอดสู่การพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่

ในด้านการพัฒนาบุคลากร ได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลักของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และก่อตั้งศูนย์วิจัยพยาธิชีววิทยาโรคเขตร้อน พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับนักวิจัยต่างประเทศหลายสถาบัน ปัจจุบันมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 105 บทความ ค่า H-index เท่ากับ 19 และได้รับการอ้างอิงรวม 1,309 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2568) ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก World’s Top 2% ในสาขา Tropical Medicine โดย Stanford University เป็นผู้ที่ได้รับรางวัล “นักปรสิตวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น” จากสมาคมปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย และได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผลงานเด่น (สรุปอย่างย่อ)

ได้ศึกษาพืชสมุนไพรกว่า 200 ชนิด และตำรับยาสมุนไพรกว่า 5 ตำรับที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อค้นหาพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียและมีความปลอดภัยสูง โดยสามารถพัฒนาตำรับยาใหม่ชื่อ CPF-1 จากตำรับยาเขียวหอม ประกอบด้วยดอกสารภี ดอกบุนนาค แก่นจันทน์แดง ใบพิมเสน หัวเปราะหอม และใบสันพร้าหอม ซึ่งมีศักยภาพสูงในการใช้เป็นยาทางเลือกสำหรับรักษาโรคมาลาเรีย โดยพบว่าตำรับ CPF-1 มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum สายพันธุ์ K1 ได้ดี มีค่า IC50 เท่ากับ 1.32 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และสามารถยับยั้งเชื้อมาลาเรียในหนูทดลองได้ถึง 72.01% โดยไม่พบความเป็นพิษในขนาด 2,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว นอกจากนี้ได้มีการค้นพบว่าสาร 1-Hydroxy-5,6,7-trimethoxyxanthone (HTX) ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม xanthone ที่แยกได้จากดอกสารภี มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรียได้ดีทั้งในหลอดทดลอง (IC50 = 9.57 ไมโครโมลาร์) และในหนูทดลอง โดยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Plasmodium berghei ได้สูงสุด 74.26% ที่ขนาด 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว เมื่อให้ทางช่องท้อง (intraperitoneal injection) ผลการออกฤทธิ์ของสารมีความสัมพันธ์กับขนาดที่ให้ (dose-dependent manner) ในการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันที่ขนาด 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบพฤติกรรมผิดปกติ อาการข้างเคียง หรือการตายในสัตว์ทดลอง รวมทั้งผลการตรวจวิเคราะห์ค่าชีวเคมีในเลือด (AST, ALT, ALP, BUN และ creatinine) และลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาของตับและไตไม่พบความผิดปกติ สำหรับค่าทางเภสัชจลนศาสตร์ของสาร HTX พบว่าถูกดูดซึมได้รวดเร็ว (Tmax = 0.5 ชั่วโมง) มีค่า Cmax = 94.02 นาโนกรัม/มิลลิลิตร และค่าครึ่งชีวิต (t½) เท่ากับ 13.88 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าสาร HTX มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยาต้านเชื้อมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยสามารถต่อยอดสู่การพัฒนายาและศึกษากลไกการออกฤทธิ์ในระดับคลินิกต่อไป

ผลกระทบของงานวิจัยต่อสังคมในด้านต่าง ๆ

- ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

การพัฒนายาสมุนไพรตำรับ CPF-1 และสารบริสุทธิ์ HTX ที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรีย สามารถลดการพึ่งพายานำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านการส่งเสริมการปลูกและแปรรูปพืชสมุนไพรไทย สร้างโอกาสทางธุรกิจและอุตสาหกรรมยาแผนไทยที่ใช้สมุนไพรท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบหลัก

- ผลกระทบด้านต่อสังคม/ชุมชน

การใช้พืชสมุนไพรไทยที่ปลูกได้ในท้องถิ่น เช่น ดอกสารภี ดอกบุนนาค และใบพิมเสน เป็นต้น ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนชนบทและส่งเสริมความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังมีการระบาดของโรคมาลาเรีย ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา และเพิ่มการเข้าถึงยารักษาโรคที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในราคาย่อมเยา

- ผลกระทบต่อการศึกษาและวิชาการ

งานวิจัยนี้เป็นต้นแบบในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเภสัชวิทยาสมัยใหม่ ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพงานวิจัยไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ส่งเสริมการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงสามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดงานวิจัยเชิงลึกระดับคลินิกต่อไปได้

การพัฒนาต่อยอด/การพัฒนาศักยภาพ ผลงานวิจัยในอนาคต

การพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยสามารถดำเนินการได้โดยการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตำรับยา CPF-1 และสาร HTX ในระดับคลินิกเพื่อทดสอบในมนุษย์ การปรับโครงสร้างสาร HTX เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียง การพัฒนาตำรับยาในรูปแบบที่สะดวกต่อการใช้ เช่น ยาเม็ดหรือยาฉีด รวมถึงการศึกษาผลกระทบจากการดื้อยาและผลระยะยาว การขยายขอบเขตการวิจัยไปยังสายพันธุ์มาลาเรียอื่นๆ และการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการร่วมพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การพัฒนาต่อยอดเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการใช้สมุนไพรและสารจากธรรมชาติในการรักษามาลาเรียที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในอนาคต

รางวัลและผลงานที่ได้รับ

1. รางวัลผลงานคุณภาพ NRCT Quality Achievement Award (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) ประจำปีงบประมาณ 2568 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาตำรับยาต้านมาลาเรียและผลของสารออกฤทธิ์ของสมุนไพรในตำรับยาเขียวหอม”
2. อาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีการศึกษา 2566
3. รางวัล Mahidol University Young Alumni Awards 2023
4. ศิษย์เก่าดีเด่นบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2564 ประเภทบูรณาการทั่วไป
5. รางวัลอาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย กลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประจำปี พ.ศ. 2561 จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
6. รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นด้านผลงานทางวิชาการและนวัตกรรม ประจำปี 2562 สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
7. นักปรสิตวิทยารุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2561 จากสมาคมปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งประเทศไทย
8. รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น (ด้านวิชาการ) หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ จากสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
9. รางวัลขวัญใจมหาชนคนวลัยลักษณ์ บุคลากรสายวิชาการ จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
10. รับพระราชทานทุนส่งเสริมบัณฑิต ปี 2559-2561 จากมูลนิธิอานันทมหิดล
11. อาจารย์ดีเด่น เนื่องในวันครบรอบหนึ่งทศวรรษ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ จากสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
12. รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) ประจำปี 2557 จากสภาวิจัยแห่งชาติ
13. รางวัลเกียรติยศแก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่มีผลการศึกษาดีเยี่ยม (DEAN'S LIST) ประจำปีการศึกษา 2554 จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
14. รางวัล Professor Emeritus Khunying Tranakchit Harinasuta Award สำหรับผู้ที่มีผลการเรียน course work ยอดเยี่ยมในหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล