Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ปาฐกถาพิเศษ “ธรรมัตตาภิบาลรากฐานของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”

อัพเดท : 31/03/2559

3381



ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปาฐกถาพิเศษ “ธรรมัตตาภิบาลรากฐานของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เนื่องในโอกาสสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครบปีที่ 24 วันที่ 29 มีนาคม 2559 ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรทางวิชาการระดับสูง ให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และประกาศนียบัตรเฉพาะเรื่อง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องใช้ความรู้ทางวิชาการในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันผู้ที่ทำงานสายสนับสนุนก็จำเป็นต้องเข้าใจด้านวิชาการเช่นกัน ทั้งนี้ ในส่วนของนักศึกษาก็มีความคาดหวังที่จะได้เรียนรู้ทางวิชาการในสาขาวิชาชีพที่ชอบเพื่อจบเป็นบัณฑิตทางวิชาชีพสายนั้นๆ ซึ่งงานขององค์กรจะประสบความสำเร็จได้อยู่ที่ตัวจักรสำคัญ คือ “คน” นั่นเอง

สถานภาพของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในฐานะมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับ คือ เป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 36 กำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นนิติบุคคลในกำกับของรัฐ ดำเนินการได้โดยอิสระภายในกรอบของพันธกิจและอำนาจหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและมีเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นนักวิชาการ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง เช่น การแบ่งส่วนงานภายในองค์กร การออกกฎระเบียบการปฏิบัติงานตามความจำเป็น เป็นต้น และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา ซึ่งก็คือ “สภามหาวิทยาลัย” โดยพนักงานปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบที่สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ออก

ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ การควบคุมดูแลระดับสถาบันดำเนินการโดยสภามหาวิทยาลัย ทั้งโดยทั่วไปและโดยเฉพาะ หากเป็นระดับชาติเป็นการกำกับดูแลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยใน 4 ภารกิจ คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ซึ่งตามปกติจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการของบประมาณ การแต่งตั้งอธิการบดี การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น ในกรณีที่มีปัญหาข้อขัดแย้งซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม ให้รัฐมนตรีพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มหาวิทยาลัยต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีปณิธานที่มุ่งความเป็นเลิศ โดยเป็นเลิศทั้งทางด้านวิชาการและภารกิจทั้ง 4 ด้าน โดยใช้หลักการบริหารจัดการที่ดี “ธรรมัตตาภิบาล” เป็นรากฐานของการบริหารมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” คำว่า “ธรรมัตตาภิบาล” มาจากคำว่า “ธรรมาภิบาล + อัตตาภิบาล” ซึ่งหลักธรรมาภิบาลมุ่งเน้นใน 6 หลักการ คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ หลักความคุ้มค่า หลักความรับผิดชอบ และหลักการมีส่วนร่วม ส่วนหลักอัตตาภิบาลมุ่งเน้นใน 3 หลักการ คือ ความเป็นอิสระ เสรีภาพทางวิชาการ และความรับผิดชอบต่อสังคม

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน กล่าวในตอนท้ายว่า “หากดำเนินการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและหลักอัตตาภิบาลแล้ว ผลได้คือ การบริหารจัดการให้บรรลุความเป็นเลิศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลได้รวดเร็วขึ้น”

สมพร อิสรไกรศีล ข่าว
ชลธิชา ปานแก้ว ภาพ