News

มวล. เยือน ม.มหิดล หารือความร่วมมือศูนย์การแพทย์ และการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ



อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำคณะผู้บริหารด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เยือนมหาวิทยาลัยมหิดล หารือความร่วมมือ ในการดำเนินงานของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม OSM1 ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม



คณะจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ทพ.ดร.สิทธิชัย ขุนทองแก้ว รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ อาจารย์ ดร.นพ.ปรัชญะพันธุ์ เพชรช่วย คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ คณบดีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.จิตรบรรจง ตั้งปอง คณบดีสำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ คณบดีสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ อาจารย์ นพ.ธีระพันธ์ สงนุ้ย รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาจารย์ ดร.อรทัย นนทเภท รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นางสาวจิตตนา หนูณะ หัวหน้าส่วนสื่อสารองค์กร และนางสาวอรพินท์ ไชยพงศ์ รักษาการแทนหัวหน้าหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร เข้าพบอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและคณะผู้บริหาร ร่วมพูดคุยหารือและขอคำแนะนำ เกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เปิดโรงพยาบาลนำร่องของศูนย์การแพทย์ ให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากร และเริ่มมีบุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการ ราววันละ 200 คน คาดว่าอีกราว 3 – 4 เดือน จะสามารถเปิดรับผู้ป่วยในได้ ซึ่งผู้บริหารจะต้องมีการเตรียมความพร้อม เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ และเมื่อมีศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เกิดขึ้น จะต้องเตรียมการในหลายๆ ด้าน ที่ดำเนินการไปแล้วคือ เรื่องการออกแบบตกแต่งทั้งหมด และเรื่องของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีคณะกรรมการดำเนินการ ส่วนด้านการบริหารจัดการ เนื่องจากเป็นศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ สำนักวิชาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันทำงาน โดยมีศูนย์การแพทย์เป็นแกนกลางในการให้บริการทั้งหมด

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อว่า การมาเยือนมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความตั้งใจที่จะขอความอนุเคราะห์ให้โรงพยาบาลศิริราชช่วยเป็นสถาบันพี่เลี้ยง เนื่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับการดำเนินงานของศูนย์การแพทย์ โดยจะขอทำความร่วมมืออย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการศูนย์การแพทย์ ขอความอนุเคราะห์ให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้มาศึกษาดูงานในแต่ละด้านของมหิดล รวมทั้งเรื่องการวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องมีบทบาทสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะส่งบุคลากรมาเรียนรู้ รวมทั้งจะขอความกรุณาให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลช่วยให้คำแนะนำในสถานที่จริงเมื่อศูนย์การแพทย์เปิดให้บริการ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลัยลักษณ์ มีความวิตกกังวลในเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็จะขอคำปรึกษาในเรื่องดังกล่าว เพื่อจะได้จัดหาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป



ด้าน ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลยินดีให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในทุกเรื่อง ซึ่งการให้ความช่วยเหลือแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำให้คนไทยได้คุณูปการอย่างแน่นอน เพียงแต่จะช่วยเหลือได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับข้อกำหนด โดยในขั้นแรกมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อาจส่งบุคลากรมาเรียนรู้ในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ หรือหาช่วงเวลามาศึกษาดูงาน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำความรู้ต่างๆ ไปแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง ส่วนกรณีของหลักสูตรการเรียนการสอน หากมีความรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นต้นแบบที่มีคุณภาพที่สามารถยึดเป็นแบบอย่างได้ หรือมีอะไรที่ต้องระมัดระวังในการดำเนินงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทุกหน่วยงานของมหิดล ทั้งศิริราช รามาธิบดี รวมทั้งศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ขอให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แจ้งความประสงค์มา มหาวิทยาลัยมหิดลยินดีให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่









ประมวลภาพ

ภาพและข่าวโดย: หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร

TOP