News

ม.วลัยลักษณ์วิจัยสร้างอัตลักษณ์และยกระดับมาตรฐานบริการสปาศรีวิชัย



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์วิจัยสร้างอัตลักษณ์และยกระดับมาตรฐานบริการสปาศรีวิชัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล และยกระดับมาตรฐานการบริการสปา ในพื้นที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวฯ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ และทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยร่วมกันดำเนินการวิจัยภายใต้แผนวิจัย“การสร้างอัตลักษณ์และยกระดับมาตรฐานการบริการสปาศรีวิชัย” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ยกระดับมาตรฐานการบริการสปาในพื้นที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีความสามารถในการแข่งขันมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าวต่ออีกว่า แผนการวิจัยดังกล่าวดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก ขับเคลื่อนการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) มีโครงการวิจัยย่อยประกอบด้วย โครงการการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สปาจากสมุนไพรพื้นบ้าน โดยดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช และดร. บุญส่ง หวังสินทวีกุล สำนักวิชาเภสัชศาสตร์เป็นผู้ดำเนินโครงการ โครงการการพัฒนามาตรฐานสปาศรีวิชัยโดยผศ.ดร.เรวดี เพชรศิราสัณห์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ โครงการการพัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานการบริการสปาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยผศ.ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม สำนักวิชาการจัดการ และโครงการการพัฒนาอัตลักษณ์และการบริหารจัดการแบรนด์สปาศรีวิชัยโดยรศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริหารทรัพย์สิน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยดังกล่าวได้นำเสนอรายงานวิจัยรอบ 6 เดือนต่อผู้ทรงคุณวุฒิ โดยผลการวิจัยได้มีการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรพื้นบ้านบนฐานภูมิปัญญาในรูปแบบของ อีมัลเจล 3 สูตร ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว อีมัลเจล (Coconut oil Emulgel) กับ น้ำมันไพล อีมัลเจล (Plai oil Emulgel) และอีมัลเจลมะพร้าวกับไพล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สปาที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนวดคู่กับน้ำมันนวด ซึ่งได้พัฒนาขึ้นสำหรับสปาศรีวิชัยจำนวน 5 สูตร รวมทั้งการพัฒนา welcome drink จากกล้วย โดย ผศ.ดร.วิสาขะ อนันธวัช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร และการพัฒนาแนวคิดในการออกแบบ (Conceptual Design) เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ดำเนินการพัฒนาศูนย์เรียนรู้พืชสมุนไพรเพื่อผลิตภัณฑ์สปา และการพัฒนาพื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพร โดยอาจารย์สุผาณิต วิเศษสาธร อาจารย์สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ อีกด้วย

นอกจากนี้ยังดำเนินร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการพัฒนามาตรฐานและยกระดับการบริการสปาโดยผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสถานบริการกับกระทรวงสาธารณสุข ฝึกอบรมเพิ่มเติมให้ความรู้เกี่ยวกับการบริการและการขึ้นทะเบียนหมอนวดฟรีแลนซ์ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์คุณภาพใส่ใจกับความปลอดภัยของผู้รับบริการ ทั้งนี้ทางผศ.จิรพัฒน์ นาวารัตน์ และดร.อโนมา สันติวรกุลอาจารย์สาขากายภาพบำบัด สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ ได้พัฒนาเอกลักษณ์การนวดศรีวิชัย-ไพยสันตา โดยอาศัยการนวดตะวันตก ซึ่งใช้เทคนิคการลูบ (Effleurage or Gliding) การกด (Petrissage or Kneading) การถู (Friction) การเคาะ (Tapotement or Percussion) และการสั่น (Vibration or Shaking) ร่วมกับการนวดไทย ที่เน้นเส้นประธานสิบ ผสมผสานมาเป็นท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อแบบศรีวิชัย ที่ประยุกต์จากการถอดท่ารำมโนราห์ ระบำศรีวิชัยและท่าฤาษีดัดตนแล้วนำมาคัดเลือกท่าที่จะช่วยในการคลายกล้ามเนื้อของผู้ใช้บริการสปาบริเวณที่พบว่ามีปัญหาบ่อย ให้ผลดีทั้งทางสรีรวิทยาและทางจิตใจจากการนวด

“ทีมวิจัยพบว่าอำเภอขนอมมีฐานทรัพยากรสมุนไพร หมอยาพื้นบ้าน วิถีชีวิตท้องถิ่นที่มีเสน่ห์ ผนวกกับความโดดเด่นของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่สงบ ผ่อนคลาย ซึ่ง อาจารย์วาลุกา เอมเอก สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบจึงได้นำผลการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ศรีวิชัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญมากำหนดอัตลักษณ์และแบรนด์สปาศรีวิชัย ออกแบบตราสัญลักษณ์ พัฒนาลายผ้า รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการบริการต่างๆให้ผู้เข้าใช้บริการได้รับกลิ่นอายของความเป็นศรีวิชัยสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจสปา ซึ่งแผนงานวิจัยนี้มุ่งยกระดับมาตรฐานทั้งด้านการบริการและการส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรอง อันจะนำไปสู่การยอมรับจากผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สปาศรีวิชัย มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลภัส กล่าว











ประมวลภาพ

ข่าวโดย นายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

TOP