Location

0 7567 3000

ข่าวเด่น

ม.วลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม ทะเลสุข คนก็สุข : ศิลปะ ขยะ ทะเลโลก เฉลิมพระเกียรติ ภายใต้โครงการวลัยลักษณ์บูรณาการ “ท่าศาลา เมืองน่าอยู่” (Thasala Model : Smart and smile city)

อัพเดท : 01/08/2560

2620



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่อำเภอท่าศาลา โดยมีศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักวิชาต่างๆและโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม ทะเลสุข คนก็สุข : ศิลปะ ขยะ ทะเลโลก เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรรษา ภายใต้โครงการวลัยลักษณ์บูรณาการ “ท่าศาลา เมืองน่าอยู่” (Thasala Model : Smart and smile city)เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอำเภอท่าศาลาในด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ณ ชายหาดบ้านท่าสูงบน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แขกผู้มีเกียรติในพื้นที่อำเภอท่าศาลาและผู้สนใจเข้าร่วมนับ 1,000 คน

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวรายงาน นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ นายอำเภอท่าศาลา และนายภิญโญ หนูชื่น ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา กล่าวต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า จากแนวคิดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มุ่งเน้นโครงการบริการวิชาการในรูปแบบพันธกิจสัมพันธ์กับชุมชน สอดรับกับวิสัยทัศน์ “เป็นหลักในถิ่น” โดยนำศักยภาพของมหาวิทยาลัยในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ ไปขับเคลื่อนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอท่าศาลา ผ่านการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาครัฐและเอกชน ภายใต้ชื่อโครงการวลัยลักษณ์บูรณาการ “ท่าศาลา เมืองน่าอยู่” (Thasala Model : Smart and smile city)

กิจกรรม ทะเลสุข คนก็สุข : ศิลปะ ขยะ ทะเลโลก เฉลิมพระเกียรติ ภายใต้โครงการวลัยลักษณ์บูรณาการ “ท่าศาลา เมืองน่าอยู่” (Thasala Model : Smart and smile city)จัดขึ้นเพื่อบริหารจัดการขยะริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ช่วงอำเภอท่าศาลา ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นที่ชายหาดบ้านท่าสูงบน เพื่อสร้างความตระหนักให้นักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประชาชน เยาวชนและผู้ประกอบการ ได้ช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลให้สะอาด น่าอยู่ น่าเที่ยว โดยการไม่ทิ้งขยะ และช่วยกันจัดการขยะอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยที่ 6 ในด้านความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย โดยอนาคตจะจัดทำแผนงานแบบยั่งยืนเพื่อให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บขยะ ทำความสะอาดชายฝั่งอำเภอท่าศาลา

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถวายเครื่องราชสักการะ เปิดกรวยดอกไม้ และอ่านบทถวายพระพรเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรรษา จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานตัดริบบิ้นเปิดงาน ณ ประติมากรรมหมึกวาย อันเป็นสัญลักษณ์ในการร่วมกันรักษาความสะอาด ชายหาดบ้านท่าสูงบน อีกด้วย

กิจกรรม ทะเลสุข คนก็สุข : ศิลปะ ขยะ ทะเลโลก เฉลิมพระเกียรติ ภายใต้โครงการวลัยลักษณ์บูรณาการ “ท่าศาลา เมืองน่าอยู่” จัดขึ้นเพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอำเภอท่าศาลาในด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดชายหาด ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวชายหาดที่สวยงาม และลดปริมาณขยะบริเวณชายหาด อำเภอท่าศาลา โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ กิจกรรมการแสดง ศิลปะการแสดงสดชุด “มนุษย์ขยะ” โดย มูซา รักษาและนักศึกษาชมรมพิทักษ์ทะเล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กิจกรรมเสวนา “ขยะทองคำและการจัดการขยะโดยชุมชน” โดย อาจารย์ภูสิต ห่อเพชร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นายไพรวัลย์ เกิดทองมี ตัวแทนภาคประชาชน ผู้นำชุมชนและตัวแทนผู้ประกอบการ การแสดงวงดนตรี “ซักกะเลย์” กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ซุ้มนิทรรศการและภาพถ่าย จากชมรมถ่ายภาพท่าศาลา การออกร้านปลอดโฟมและพลาสติก ของผู้ประกอบการ ร้านค้าชุมชน และกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆอีกมากมาย

ประมวลภาพ

ข่าว/ภาพ โดย นางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร