Location

0 7567 3000

ข่าววิชาการ-วิจัย-สัมมนา

การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน : กรณี ความร่วมมือของอำเภอลานสกาและหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก พ.ศ. 2556-2560

06/11/2560

6067

จากสถานการณ์ปัญหาโรคไข้เลือดออกระบาดในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา อำเภอลานสกาเป็นอำเภอหนึ่งที่มีปัญหาความรุนแรงและมีความเสี่ยงซ้ำซาก หน่วยวิจัยและบริการโรคไข้เลือดออก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ทั้งอำเภอลานสกา โดยรับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ถึง ปัจจุบัน กล่าวคือ
พ.ศ. 2556-2557 ดำเนินการชุดโครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำ จังหวัดนครศรีธรรมราช” พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกในมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตาม เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการตัดโยงใยสาเหตุของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไข้เลือดออกของอำเภอลานสกาให้มากที่สุดและเกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกให้ยั่งยืน จึงมีการดำเนินการต่อเนื่องของพื้นที่จนเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกที่ชัดเจน คือ “ลานสกาโมเดล: โมเดลระบบเฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลายเพื่อแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก”

พ.ศ. 2558 ดำเนินการวิจัยต่อเนื่องในประเด็นของการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก อีก 5 เรื่อง กล่าวคือ 1) การวิเคราะห์ต้นทุนในการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคไข้เลือดออก: กรณีศึกษาย้อนหลังและไปข้างหน้า อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช 2) ความสัมพันธ์ของความหลากหลายของยีนบริเวณโปรโมเตอร์ของยีน CD209 กับอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีในจังหวัดนครศรีธรรมราช และ 3) การศึกษาการแสดงออกของ CD209 บนเซลล์เดนดริติก และหมู่เลือดกับความรุนแรงของอาการแสดงทางคลินิกของผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกี ทั้งนี้ผลการดำเนินการสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการป้องกันไข้เลือดออก และการสำรวจประเภทขของยุงอีก 2 เรื่อง

พ.ศ. 2559 ถึง ปัจจุบันได้มีการดำเนินการจากวิกฤตการณ์ การจัดการขยะมูลฝอยโดยภาพรวมของจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน มีปริมาณขยะตกค้างที่ไม่สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ อันนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก คือชุดโครงการเรื่อง “การแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนของอำเภอพื้นที่เสี่ยงสูง: การจัดการขยะและแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยของอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งมีผลการดำเนินการในภาพรวมทั้งอำเภอ และตำบลนำร่อง ตลอดถึงได้แนวปฏิบัติในการป้องกันโรคในชุมชนที่เชื่อมโยงกับ ลานสกาโมเดล และแนวปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกในภาพรวมของอำเภอลานสกา

จากการดำเนินการในช่วง พ.ศ. 2558 ถึง 2560 ทางหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออกร่วมกับตัวแทนพื้นที่อำเภอลานสกา ได้จัดประชุมในวันที่ 3 ตุลาคม 2560 เพื่อคืนข้อมูลการดำเนินโครงการวิจัย จำนวน 5 โครงการได้แก่
1) การวิเคราะห์ต้นทุนในการป้องกัน รักษาและควบคุมโรคไข้เลือดออก: กรณีศึกษาย้อนหลังและไปข้างหน้า อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช (หัวหน้าโครงการ ดร. อรทัย นนทเภท)
2) ความสัมพันธ์ของความหลากหลายของยีนบริเวณโปรโมเตอร์ของยีน CD209 กับอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีในจังหวัดนครศรีธรรมราช (ดร. จิรารัตน์ สองสี)
3) การศึกษาการแสดงออกของ CD209 บนเซลล์เดนดริติก และหมู่เลือดกับความรุนแรงของอาการแสดงทางคลินิกของผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกี (หัวหน้าโครงการ ดร. ดร. จิราพร เจริญพูล)
4) การพัฒนารูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสมเพื่อในการควบคุมดัชนีลุกน้ำยุงลายใน ชุมชน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช (หัวหน้าโครงการ ดร. สุขุมา ชิตาภรณ์พันธุ)
5) การพัฒนาและการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของหน่วยบริการ
ปฐมภูมิ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช (หัวหน้าโครงการ รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง)


ผลการดำเนินการมีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 100 คน จากทุกภาคส่วนของอำเภอลานสกา ได้แก่
1. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานไข้เลือดออก และพยาบาลวิชาชีพ ของ รพ.สต. รวม รพ.สต. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลานสกา และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
2. ตัวแทนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. ทั้งหมดและเทศบาล
3. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทั้ง 44 หมู่บ้าน
4. อสม. ประธานหมู่บ้าน ทั้ง 44 หมู่บ้าน
5. ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกของอำเภอที่สนใจ

ผลการดำเนินการและประโยชน์ที่ได้รับของการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่อำเภอลานสกา จนได้ต้นแบบของ แนวทางป้องกันโรคในชุมชนและแนวปฏิบัติดูแลรักษาในโรงพยาบาลที่ต่อเนื่องกัน นำไปสู่การได้รับการพิจารณาทุนสนับสนุนจากจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ “การจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้นโยบายสาธารณะ (Public Policy) ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ ประจำปี 2561” เรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อกำหนดนโยบายการพัฒนาแนวทางป้องกันโรคในชุมชนและแนวปฏิบัติดูแลรักษาในโรงพยาบาลแก่แกนนำสุขภาพใน 22 อำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราช”