Location

0 7567 3000

ข่าวทั่วไป

อาศรมฯวลัยลักษณ์ เชิญชวนเรียนรู้ประวัติศาสตร์โบราณสถานตุมปังผ่านเทคโนโลยี AR

อัพเดท : 27/03/2561

1527



อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ เชิญชวนเรียนรู้ประวัติศาสตร์โบราณสถานตุมปังผ่านเทคโนโลยี AR พร้อมชวนถ่ายภาพชุดไทยย้อนยุคบริการฟรี

อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดงานเรียนรู้ประวัติศาสตร์ภายใต้ชื่อ “ดินแดนโบราณสถานตุมปัง Ancient Land เปิดมิติใหม่ เรียนรู้ประวัติศาสตร์โบราณสถานตุมปัง ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Augmented Reality) “ เพื่อให้ประชาชนรู้จักโบราณสถานตุมปังมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาโบราณสถานตุมปังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ และรองศาสตราจารย์ ดร. สืบพงศ์ ธรรมชาติ รักษาการแทนผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรม ม.วลัยลักษณ์ กล่าวรายงาน ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ นักศึกษา นักเรียนและประชาชนในพื้นที่อำเภอท่าศาลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมชมกิจกรรมภายในงานและร่วมกันใส่ชุดไทยถ่ายภาพเป็นที่ระลึก เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ โบราณสถานตุมปัง

รองศาสตราจารย์ ดร. ศราวุธ ปาลิโภชน์ กล่าวว่า จากการที่ร่วมกันวางแผนจะมีการยกระดับโบราณสถานตุมปังให้เป็นสถานที่ที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในอนาคตหากใครต้องการมาท่องเที่ยวที่จังหวัดนครศรีธรรมราชต้องนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวโบราณสถานตุมปังด้วย ซึ่งตุมปังมาจากภาษามาลายู แปลว่าที่อยู่อาศัย แต่การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนั้นต้องใช้เวลาและต้องทำเป็นเรื่องราว โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคมได้มีการขุดอิฐก้อนล่างสุดจำนวน 5 ก้อน ไปตรวจสอบอายุโดยใช้เครื่องมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คนโบราณมักจะมีการเรียกติดปากกันว่า“ตั้งดินตั้งฟ้าตั้งหญ้าเขตมอญ โมคลานตั้งก่อน เมืองตั้งหลัง” ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เราจะเรียกว่าโมคลานมีอายุประมาณ 1,200 กว่าปี จึงได้หาแนวทางเพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่า ที่นี่ตรงนี้เป็นโบราณสถานที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยและต้องการยกระดับเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกที่หนึ่ง โดยได้มีการรวบรวมเรื่องราวไว้จำนวนมากและจัดทำเป็นหนังสือแบบเข้าใจง่าย รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย เพื่อจำลองแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณสถานตุมปังในพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงโดยใช้แอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ทางอาศรมวัฒนธรรมมีพันธมิตรจาก ม. เกษตรศาสตร์ที่จะช่วยศึกษาในเรื่องของอายุ และมีการตั้งเป้าหมายว่า ไม่ใช่รู้จักโบราณสถานตุมแต่เพียงบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เท่านั้น แต่เราตั้งเป้าหมายไกลถึงคนทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อให้โบราณสถานตุมปังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่นักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมชม

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. สืบพงศ์ ธรรมชาติ กล่าวถึงกิจกรรมในดินแดนโบราณสถานตุมปังว่า ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ 1 การถ่ายภาพชุดไทย ณ โบราณสถานตุมปัง โดยมีชุดไทยให้บริการฟรีและสามารถปริ้นภาพถ่ายขนาด Photo เพื่อเป็นที่ระลึก กิจกรรมที่ 2 การนำชมตุมปังโดยยุวมัคคุเทศก์โบราณสถานตุมปังที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรยุวมัคคุเทศก์โบราณสถานตุมปัง ซึ่งมีทั้งหมด 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย

ภาษาอังกฤษและภาษาจีน กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมนำชมด้วยการชมระบบเสมือนจริงด้วย Application ผ่านสมาร์ทโฟนโดยมีชื่อ Application ว่า AR_Tumpung กิจกรรมที่ 4 น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ มีการจัดเลี้ยงน้ำสมุนไพรบริการฟรีแก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมโบราณสถานตุมปัง โดยมีรถโดยสารประจำทาง ให้บริการรับส่งจากอาคารสถาปัตยกรรม-โบราณสถานตุมปัง แบ่งออกเป็น 4 รอบ รอบที่ 1 เวลา 09.00 น. รอบที่ 2 เวลา 11:00 น.รอบที่ 3 เวลา 13:00 น. รอบที่ 4 เวลา 14.00 น.

ประมวลภาพ

ข่าวโดย นางสาวจิรนันท์ เกตุมณี นักศึกษาช่วยงานส่วนสื่อสารองค์กร
ภาพโดย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์